Quantcast
Channel: moddum –มติชนออนไลน์
Viewing all 1000 articles
Browse latest View live

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศรีวิชัยไม่ใช่อาณาจักรมหึมา แต่เป็นรัฐเครือข่ายของกลุ่มเกาะต่างๆ

$
0
0

รัฐศรีวิชัย มีพัฒนาการจากการรวมตัวของชาวเกาะชาวน้ำ ซึ่งอยู่ตามเกาะและกลุ่มเกาะต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนโบราณ
เพื่อสร้างเครือข่ายการค้าทางทะเลสมุทร โดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย ราวหลัง พ.ศ. 1000 จึงไม่ใช่รัฐที่ต้องมีพื้นที่กว้างขวางทางการเกษตร
แต่ความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ต้องเกี่ยวพันมากอย่างยิ่งกับคนชายฝั่งและคนบนบก เป็นส่วนสำคัญของการค้าขายแลกเปลี่ยนในทะเลใต้และการค้าโลกตั้งแต่ครั้งอดีตกาลมาจนปัจจุบัน เช่น เกิดชุมชนการค้า หรือเมืองชายฝั่งบริเวณชุมทางบนเส้นทางการค้าทะเลสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน
[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554]

รัฐศรีวิชัย ไม่ควรเรียกเป็น “อาณาจักรศรีวิชัย” จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะลักษณะโครงสร้างทางการเมืองยุคแรกๆ ของอาเซียนโบราณเป็นระดับรัฐเอกราชขนาดเล็กๆ กระจายทั่วไป ยังไม่รวมตัวกันแข็งแรงใหญ่โตขนาดอาณาจักร (ตามความหมายของประวัติศาสตร์ยุโรป)
อาณาจักรศรีวิชัย เป็นประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่ (อันเป็นผลพวงจากยุคล่าเมืองขึ้น) ด้วยพยานหลักฐานโบราณคดีที่มีน้อยนิด โดยยกประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเครื่องมือชี้ขาดอำนาจทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เลยมีช่องโหว่เป็นจุดอ่อนให้ทักท้วงถกเถียงมากมายก่ายกองไม่เป็นที่ยุติ สืบเนื่องจากคำอธิบายตามแนวคิดประวัติศาสตร์ศิลปะแบบล่าเมืองขึ้นนั่นเอง

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชมีความสำคัญในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องลากจูงไปให้ถึงรัฐศรีวิชัยโดยไม่จำเป็น เพราะจะมีปัญหาโต้แย้งมากในทางสากล แล้วส่งผลเสียมากกว่าดี

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศรีวิชัยไม่ใช่อาณาจักรมหึมา แต่เป็นรัฐเครือข่ายของกลุ่มเกาะต่างๆ appeared first on มติชนออนไลน์.


‘เขา และ เขี้ยว’อำนาจแห่งเจ้าป่าอันศักดิ์สิทธิ์

$
0
0

“เขา” และ “เขี้ยว” ตัวแทนแห่งอำนาจอันเก่าแก่ดั้งเดิม คู่กับโลกใบนี้มานานแสนนาน ย้อนหลังกลับไปถึงยุคดึกดำบรรพ์อันโด่งดัง แห่งไดโนซอรัสครองพื้นพิภพ ความแข็งแกร่งน่าเกรงขาม ต่างวัดกันด้วยความใหญ่โง้งของเขาบนหัว โดยเฉพาะเขี้ยวขาวคมกริบวาววับ คือตัวกำหนดสถานะอย่างสำคัญ ระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่า

สืบทอดกฎเหล็กของธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง รุ่นแล้วรุ่นเล่ายาวนานเป็นร้อยล้านปี จนผ่านถึงยุคมนุษย์เดินดิน สู่ยุคหินยุคเหล็กมาปัจจุบัน ก็ยังไม่หนีห่างจากคำว่า “เขา” และ “เขี้ยว” มนุษย์ผู้ไม่มีเขาและน้อยเขี้ยว หากมากเนื้อสมอง จึงสร้างเขาและเขี้ยวเทียม ขึ้นปกป้องและเข้าจู่โจมในคราวเดียว

จากหอกหินกระดูกสัตว์ ไต่สถานะของนักล่าถึงชั้นบนสุดในเวลาไม่เนิ่นนาน “เขา” และ “เขี้ยว” วิวัฒนารุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางซากศพกองเลือดทับถมไว้เบื้องหลัง จากยุคธนูไม้เก่าคร่ำครึ จนถึงยุคธนูนิวเคลียร์ยิงกันให้สิ้นโลก หากไม่เคยพ้นไปจากกฎขึ้นต้นข้อแรกของธรรมชาติ “ผู้ล่าและผู้ถูกล่า” ไม่ว่าในโลกเผด็จการอำนาจล้น หรือสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่โลกประชาธิปไตย ผู้นิยมในทุนแสนเสรี ต่างวัดพละกำลังชี้นำความเป็นใหญ่ จัดแบ่งสถานภาพลำดับชั้นทางสังคม ในศรัทธาสูงสุดแห่งอำนาจ “เขาและเขี้ยวอันศักดิ์สิทธิ์” ศาสนาคู่โลกด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

เมื่อนึกถึงที่มาของคำแห่งอำนาจสองคำนี้ในภาษาไทย คำว่า “เขา-horn” คำว่า “เขี้ยว-fang” รวมถึงคำว่า “ขอ-hook” ต่างถือเป็นคำดั้งเดิมของพวกไท-ไตมานมนาน ตามที่ อ.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ได้ศึกษาคำเก่าแก่ของพวกไท-ไต ไว้อย่างเป็นระบบเมื่อไม่กี่ปีมานี้

คำแต่ละคำ จะถูกออกเสียงคล้ายๆ กันเกือบทั้งหมู่พวกไท-ไต โดยคำว่า “เขี้ยว” ถูกใช้กว้างขวางกว่าคำอื่น และยังออกเสียงแปลกแปร่งจากเขี้ยวไปบ้าง เช่น แข้ว เข้ว หรือออกด้วยเสียงตัว ฮ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นต้นด้วยเสียง ข.ไข่

ถ้าอ่านที่ความหมายพื้นฐานจะพบว่าคำทั้งสามมีความหมายร่วมกัน แสดงออกในลักษณะยาวทรงกระบอก ตรงโคนใหญ่และเล็กเรียวแหลมไปทางปลาย อาจงอหรือเหยียดตรงก็แล้วแต่สภาพ หากซ่อนไว้ซึ่งอำนาจชนิดลึกลับน่ากริ่งเกรง

เมื่อตรวจสอบคำในภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นออสโตรนีเซียนสายหมู่เกาะ ก็ปรากฏคำรากเหง้าคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่เหมือนกัน เป็นความคุ้นเคยของบางสิ่งที่โคนใหญ่ปลายแหลมยาวเรียว และทรงพลังอำนาจ ในคำว่า “kit” เป็นคำต้นฉบับที่ถูกนำไปใช้ประกอบสร้างคำอยู่หลายคำ เช่น

คำว่า “bukit อ่านว่า บูกิต” ซึ่งแปลว่าภูเขา เป็นคำเดียวกับ เขา ของบ้านไทยที่โผล่พ้นผืนดินแหลมขึ้นไปในอากาศ มาจากคำเก่าสองคำผสมกันคือ “bu”+“kit” โดย “bu” แปลว่าบางสิ่งผุดโผล่ขึ้น เป็นคำ

เดียวกับ “ผู้” ของไท-ไต พอรวมความหมายเป็น “bukit” จึงออกได้เป็นภูเขา

คำว่า “bangkit อ่านว่า บังกิต” แปลว่าการลุกขึ้น ยืนขึ้น มาจากคำสองคำคือ “bang”+“kit” โดย “bang” แปลว่าการคลี่คลายขยายตัว เป็นคำเดียวกับ “บาง” ของไท-ไต เมื่อรวมกับ “kit” ผู้มีปลายเล็ก จึงกลายเป็นการลุกขึ้น

คำว่า “dikit อ่านว่า ดิขิต” หรือ “sedikit อ่านว่า เซอดิขิต” แปลว่าเล็กน้อย น้อยมาก นิดเดียว

รวมถึงคำว่า “sakit อ่านว่า ซากิต” แปลว่าการเจ็บไข้ได้ป่วย มาจากคำว่า “sa”+“kit” โดย “sa” คือตัวข้า ซึ่งยังค้นหาไม่เจอว่าไปแฝงอยู่ในคำของพวกไท-ไต ที่ตรงไหน เป็นตัวข้าที่ถูกอำนาจลึกลับคล้ายของแหลมเข้าทิ่มแทง จึงออกอาการเจ็บปวดและเจ็บป่วยตามมา ซึ่งตีความเป็นส่วนตัวว่าคือคำเดียวกับ “ไข้” ของพวกไท-ไต รวมถึงไทยสยาม
และคำว่า “kit” ในรูปลักษณ์ของเขางอกและเขี้ยวโง้ง ยังขยายความหมายไปถึง “gigit อ่านว่า กิกิต” คำเดียวกับ “กัด” ซึ่งเป็นอาการขบด้วยเขี้ยวทั้งบนและล่าง ที่คาดว่าถือกำเนิดมาไล่ๆ กัน

ถึงตรงนี้จึงพอมองเห็นภาพและค่อนข้างมั่นใจว่า “kit” ของภาษาอินโดนีเซีย เป็นคำเดียวกับ “เขา” และ “เขี้ยว” ของภาษาไทย และไท-ไต เป็นคำร่วมต้นรากชนิดดึกดำบรรพ์ ที่ต่อมาพัฒนาแตกหน่อออกไปในแต่ละฝั่งทะเล

โดยเฉพาะพวกไท-ไต พบคำมากมายที่คาดว่าเกิดจากเชื้อไขคำแห่งอำนาจ เช่น (ไม้) ขิด ขีด เคี้ยว ขอ แขวน สะกิด เกา ขูด ขุด ข้อง เกี่ยว ขึ้น เข้า เผลอๆ กินความไปจนถึงคำว่า ฆ่า อีกด้วย และสังเกตว่าคำชั้นหลังเหล่านี้จะออกเสียงนำด้วยตัว ข.ไข่ เป็นหลัก

จึงเป็นการสืบทอด “เขาและเขี้ยวอันศักดิ์สิทธิ์” ในอีกแนวทางหนึ่งของพี่น้องสองฝั่งทะเล พวกไท-ไตและอินโดนีเซีย

 

สุพัฒน์

เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

 

The post ‘เขา และ เขี้ยว’ อำนาจแห่งเจ้าป่าอันศักดิ์สิทธิ์ appeared first on มติชนออนไลน์.

ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 3 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’

$
0
0

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชนยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499
สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ.2499

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วมกันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

เครื่องประดับเศียร

บทความโดย นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกวิชาการ กองโบราณคดี

ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)
ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

ในบรรดาเครื่องทองที่คนร้ายลักขุดได้ที่กรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีสิ่งที่น่าสนใจ 2 ชิ้น คือ
1.เครื่องทอง ที่มีบางท่านเรียกว่า จุลมงกุฎ ทรงน้ำเต้า
2.เครื่องทอง ที่เรียกว่า มาลาทองคำ ใช้เส้นทองถัก
สำหรับชิ้นที่ 1 เป็นอะไรกันแน่ ได้ตรวจดูหลักฐานตามตัวหนังสือจากตำนานเครื่องต้นครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏดังนี้

พระมหากษัตริย์

เครื่องสวมพระเศียร ในโอกาส

1.ทรงพระชฎาพระเกี้ยวเพชร ทับทิม มรกต มีสีตามฉลองพระองค์ เสด็จออกแขกเมือง
2.ทรงพระมาลา พระกลีบ 5 ยอดสะดุ้ง (ชฎามหากฐิน) เสด็จพระพุทธบาท (ชฎามหากฐิน)
3.ทรงพระชฎาสอดตามสีฉลองพระองค์ เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ วัดไชยวัฒนาราม
4.ทรงพระมาลาฝรั่งพระเส้าสเทินขนนกลอน ตั้งพยุหยาตราแต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปจนพระพุทธบาท
5.ทรงพระชฎาขาวริมทองสอดตามสี (ชฎาพอก) เสด็จไปถึงปากป่าทุงบ้านใหม่
6.ทรงพระมาลาเส้าสูงกุหล่าขนนกตั้ง เสด็จไปวัดพระศรีสรรเพชญ์และฉลองวัด
7.ทรงเครื่องพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงมหาพิชัยราชรถและพระที่นั่งกิ่ง
8.ทรงพระมาลาลง (ยันต์) ราชะ (เป็น) ซับใน เครื่องพระราชพิชัยสงครามสำหรับขนช้าง
9.ทรงเครื่องทรงประพาสพระ (มาลา) เส้าสเทิน เสด็จออกไปลพบุรีแลสระแก้วและน้ำโจนแลล้อมเสือ แลขั้นห้างจับเสือ
(ไม่ได้ระบุถึงมงกุฎทรงน้ำเต้าไว้ เข้าใจว่าตำนานเครื่องต้นนี้คงจะบันทึกในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง หรือแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังที่มีมงกุฎแบบทรงน้ำเต้า เพราะวัดไชยวัฒนารามเพิ่งจะสร้างในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง)

เครื่องทองวัดราชบูรณะ

พระมหาอุปราช

ทรงเครื่องทุกอย่าง (หรือบางอย่างไม่กล่าวชัด) เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน แต่มิให้ต้องสีเครื่องต้นและฉลองพระองค์ ลดพระสุวรรณมาลัย (ดอกไม้ที่เสียบข้างพระชฎา ซึ่งทุกวันนี้เรียกใบสนว่าพระยี่ก่า)

เจ้าฟ้าเทียบพระมหาอุปราช

ทรงพระชฎากาบต่ำ (ชฎาพอกมีกาบเป็นลายรักร้อยเรียวแหลม ประกับยอดขึ้นไป 4 ทิศ อันนี้บังคับให้ของเจ้าฟ้าสั้นกว่าของพระมหาอุปราช)

เจ้าฟ้า

อย่างที่ 1 ทรงเกี้ยวพระอุไรดอกไม้ทิศ
อย่างที่ 2 พระชฎาตามสีฉลองพระองค์

หลักฐานที่เป็นสิ่งของ ได้แก่ กาบพระเต้าทองคำยอดพรหมพักตร์ ซึ่งอยู่ในกรุเดียวกันนี้ มีกาบมีลายฉลุเป็นรูปประทับนั่ง ที่พระเศียรทรงพระชฎาหรือมงกุฎยอดทรงน้ำเต้าแบบเดียวกับเครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 1 หลักฐานปัจจุบันก็ได้แก่มงกุฎหัวโขน ที่เรียกกันว่า มงกุฎยอดน้ำเต้า และมงกุฎยอดน้ำเต้าเฟือง ลดชั้นลงมาใช้กับเจ้านาย เช่น พิเภกผู้เป็นน้องกษัตริย์เมืองลงกา

พิจารณาประกอบกับสิ่งอื่นที่พบในกรุเดียวกัน คือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลองและพระแสงดาบ ชวนให้สันนิษฐานว่า เครื่องประดับเศียรทรงน้ำเต้าคงจะเป็นส่วนบนของมงกุฎ ส่วนล่างอาจจะหายโดยคนร้ายลักเอาไปซ่อนไว้ที่อื่น เพราะรูปที่ฉลุบนกาบของพระเต้าทองคำยอดพรหมพักตร์ มีมงกุฎครบทั้งส่วนบน (ทรงน้ำเต้า) และส่วนล่าง มงกุฎนี้ควรจะเป็นของมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง เพราะถ้าเป็นเครื่องของเจ้าอ้ายพระยาและเจ้าญี่พระยาควรจะมี 2 ชุด

ที่มาของยอดมงกุฎทรงน้ำเต้า ก็คือ เดิมชายไทยไว้ผมสูงและโพกผ้า พยานหลักฐานที่เป็นรูปสัมฤทธิ์ ได้แก่รูปสมัยอยุธยา เลขที่ อย.41 ขณะนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่พระเศียรของรูปดังกล่าวจะเห็นผมสูงมีรอยแถบผ้ารัดหรือผูกโดยรอบคล้ายผมจุก อีกรูปหนึ่งเป็นรูปสมัยอยุธยาเลขที่ อย.54  ขณะนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ยอดพระเศียรผ้ารัดรอบผมสูง แปลงรูปไปเป็นผ้าแถบพันหลายชั้นเริ่มจะมีเค้าเป็นรูปทรงน้ำเต้า และมีกระบังหน้า ส่วนล่างรอบส่วนหลังของพระเศียรทำเป็นลวดลายคล้ายลายถัก

การวิวัฒนาการของมงกุฎทรงน้ำเต้า คงจะเป็นดังนี้
คั่นที่ 1 เดิมไว้ผมสูงและโพกผ้า
คั่นที่ 2 ต่อมามีผ้าแถบหรือเชือกผูกรัดผมสูง เช่นเดียวกับผูกผมจุกเด็ก
คั่นที่ 3 ประดิษฐ์เครื่องครอบยอดผมสูงมีลักษณะโปร่งด้วยทองหรือเงินแล้วแต่ฐานะ มีรูปทรงน้ำเต้า
คั่นที่ 4 มีกรอบหน้า ผ้าโพกเปลี่ยนเป็นส่วนล่างของมงกุฎทำเป็นลวดลายคล้ายลายถักและมีกรรเจียกจอน
คั่นที่ 5 เมื่อตัดผมสั้น เป็นแบบที่เรียกว่าทรงมหาดไทย ยอดผมสูงหายไป รูปทรงน้ำเต้า ก็ไม่มีความหมายเพราะไม่มีผมสูงแล้ว ยอดมงกุฎก็เปลี่ยนไปเป็นยอดแหลม มงกุฎทรงน้ำเต้าเดิมเป็นเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ก็ลดศักดิ์ลงมาเป็นเครื่องทรงของเจ้านาย เช่น พิเภก คนรุ่นหลังลืมเลือนไม่ทราบว่าบริเวณที่เป็นทรงน้ำเต้านั้นเคยเป็นผม เมื่อทำมงกุฎทรงน้ำเต้าสำหรับเป็นหัวโขนก็ทาสีดำไว้ตรงที่เคยเป็นผมสูง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ห้องจัดแสดงเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ห้องจัดแสดงเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งกรมศิลปากรขุดอุโมงค์ทำบันไดขึ้นใหม่
ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งกรมศิลปากรขุดอุโมงค์ทำบันไดขึ้นใหม่

 

The post ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 3 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’ appeared first on มติชนออนไลน์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขันใส่น้ำและใส่ของต่างๆ

$
0
0

ภาชนะเก่าสุดสำหรับใส่น้ำ น่าจะเป็นกระบอกไผ่ จึงมีคำพังเพยว่า “ไม่เห็นน้ำ ตัดกระบอก” (คล้องจองกับ ไม่เห็นกระรอก ขึ้นหน้าไม้)
และน้ำเต้า อาจเป็นภาชนะเก่าสุดใส่น้ำคู่กับกระบอกไม้ไผ่ แล้วเป็นต้นแบบให้มีภาชนะจักสานและดินเผาก้นกลมสืบจนสมัยหลังๆ ถึงปัจจุบัน

ขัน หมายถึง ภาชนะตักน้ำหรือใส่น้ำ มักเรียกขันน้ำเป็นสามัญทั่วไป แต่ชื่อเรียกขยายไปตามฐานะทางสังคมของคน เช่น
ขันน้ำพานรอง หมายถึง ขันน้ำมีพานรองขันเข้าชุดกัน สำหรับคนที่ฐานะทางสังคมสูงขึ้น และอาจมีลวดลายประดับมากขึ้นตามลำดับไป
ขันสาคร แปลว่า ขันใส่น้ำ หมายถึง ขันขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะ มีหูหิ้ว 2 ข้าง มักใช้ทำน้ำมนต์ในพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีไหว้ครู ครอบครู นาฏศิลป์และดนตรี

ขันมีไว้ใช้อย่างอื่นด้วย จึงมีชื่อเรียกกำกับต่างๆ กัน เช่น
ขันกำนล (อ่านว่า ขัน-กำ-นน) หมายถึง ขันใส่เครื่องบูชาครูผู้สอนวิชาความรู้ต่างๆ สมัยก่อนอาจเป็นสิ่งของ เช่น หมากพลู ฯลฯ สมัยหลังๆ เป็นสตางค์เท่าที่กำหนดเป็นพิธี เช่น 6 บาท ฯลฯ
ขันหมาก หมายถึง ขันใส่หมากพลูและของไหว้อื่นๆ ที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว (เพื่อขมาที่ทำลูกสาวเขาท้อง หรือที่ฉุดลูกสาวเขาไปทำเมีย)
ในวัฒนธรรมลาว มีเรียกชื่อขันประเภทต่างๆ ไปอีกหลายอย่าง เช่น
ขันโตก หมายถึง ภาชนะใส่อาหาร สานด้วยไม้ไผ่แล้วทาด้วยน้ำรัก มีขอบและมีขา 4 ขา

ขันหมากเบ็ง กลายจากขันหมากเบ็ญจ์ หมายถึง ภาชนะใส่เครื่องสักการะ มี 5 อย่าง ได้แก่ ข้าวตอก, ดอกไม้, ธูป, เทียน, ประทีป โดยใช้ใบตองประดิษฐ์ประดับประดา

กระบอกไผ่ใส่น้ำร่วมสมัย (ภาพจาก www.pantip.com)
กระบอกไผ่ใส่น้ำร่วมสมัย (ภาพจาก www.pantip.com)

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขันใส่น้ำและใส่ของต่างๆ appeared first on มติชนออนไลน์.

เปิดโลก ‘ซามูไร’เรื่องน่าทึ่งของดาบญี่ปุ่น ของรัก ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’

$
0
0

เป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีการจัดแสดงชุดซามูไร ดาบ และข้าวของในยุคโบราณของญี่ปุ่น ซึ่งทุกชิ้นล้วนเป็นของแอนทีค สมบูรณ์ระดับงานมาสเตอร์พีซ ผ่านการใช้งานจริงมาแล้วเมื่อ 300-400 ปีก่อน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสมัยเอโดะ นิทรรศการ “ซามูไร” เป็นสิ่งที่ต้องไม่พลาด

“Mr.Pavel Sherashov” และ “ดอยธิเบศร์ ดัชนี” สองนักสะสมผู้หลงใหลในวิถีแห่งซามูไร และครอบครองสิ่งของล้ำค่านานาชนิดที่เกี่ยวข้องกับซามูไร จับมือกันเปิดกรุของสะสมสุดรัก เพื่อให้ผู้หลงใหลในศิลปะและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด ที่ห้อง The Space ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร สี่แยกราชประสงค์

รวมทั้ง ชุดซามูไร ระดับแม่ทัพ สมัยเอโดะ ที่ “ดอยธิเบศร์” ได้มาจากการประมูล และเก็บรักษาอย่างดีในหีบชนิดที่เจ้าตัวเองก็ยังยอมรับว่าเพิ่งได้เห็นจริงๆ ก็เมื่อนำมาจัดแสดงในครั้งนี้

ดาบของพ่อ คือแรงบันดาลใจ

“ผมเป็นคนชอบอาวุธอยู่แล้ว และโดยส่วนตัวคุณพ่อ (ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544) ก็เป็นคนชอบอาวุธเหมือนกัน เป็นของที่เอาไว้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานมากกว่า”

ดอยธิเบศร์ เปิดใจถึงที่มาของการสะสมสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับซามูไร ที่มีจุดเริ่มต้นจากอาวุธญี่ปุ่น

“ผมว่ามันมีเสน่ห์ และถ้าพูดถึงดาบที่เป็นที่สุดของโลกต้องยกให้ดาบญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือวิธีการทำ”

ดาบญี่ปุ่นเล่มแรกที่เขาสัมผัสจับต้องก็คือ ดาบสั้น (วากิซาชิ) ของพ่อ ที่มีคอลเล็กเตอร์นำมาแลกกับภาพเขียนไปหลายรูป เป็นดาบระดับ “ไดเมียว” เพราะด้ามดาบเล่มนี้พันด้วย “พาลีน” คือเหงือกปลาวาฬ ซึ่งคนที่จะฆ่าปลาวาฬได้ ไม่ใช่ชาวบ้านแน่นอน

เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาดาบญี่ปุ่นอย่างจริงจังและลึกซึ้ง จนพบว่าดาบญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแค่วัตถุ แต่เป็นเรื่องของประเพณี เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ สัญสักษณ์ของอำนาจ ของนักรบญี่ปุ่น แม้ว่าในสมัยสงครามโลก ดาบจะมีบทบาทน้อยลง แต่ยังคงมีการผลิตดาบเพื่อให้ทหารพกติดตัวไปด้วย

ส่วนเล่มแรกที่ได้เป็นเจ้าของจริงๆ ดอยธิเบศร์เล่าว่า ได้มาเมื่อ 20 ปีก่อน ครั้งที่เข้าไปตระเวนเสาะหาดาบญี่ปุ่นทางฝั่งพม่า แม้ว่าดาบที่พบส่วนใหญ่เป็นดาบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการทำในระดับอุตสาหกรรม แต่ก็ได้ดาบโบราณมาเล่มหนึ่งตีด้วยมือที่ราคา 20,000 บาท

หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมเรื่อยมา โดยเลือกเก็บเฉพาะดาบโบราณและดาบที่สำคัญๆ ซึ่งหาไม่ได้ง่าย ต้องรอจากงานประมูล กระทั่งมาเจอ “พอล” (Pavel Sherashov) ซึ่งเป็นดีลเลอร์ใหญ่ เป็นคนจัดนิทรรศการ “ซามูไร” นี้ รวมทั้งเคยจัดนิทรรศกาลดาบที่รัสเซียมาแล้ว ทำให้การตามหาดาบสำคัญๆ ได้ง่ายขึ้น

(ซ้าย) รองเท้าระดับหัวหน้า ถ้าเป็นพลทหารจะใช้รองเท้าฟาง (ขวา) หมวกนักรบ
(ซ้าย) รองเท้าระดับหัวหน้า ถ้าเป็นพลทหารจะใช้รองเท้าฟาง (ขวา) หมวกนักรบ

หลักฐานความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

ไม่เพียงสนุกกับการตามหาดาบญี่ปุ่นเล่มสำคัญๆ เขายังเป็นกูรูดาบญี่ปุ่น ที่คอลเล็กเตอร์ในระดับโลกให้การยอมรับว่า เป็นเจ้าของดาบสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันในแง่ประวัติศาสตร์ ดอยธิเบศร์บอกว่า ประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่สมัยอยุธยา ถ้าดูจากดาบ ประวัติศาสตร์ของเราเกี่ยวข้องกันตั้งแต่อยุธยา สมัยยามาดะ นางามาสะ ซึ่งเข้ามารับราชการและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

จะเห็นว่าพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะคล้ายดาบญี่ปุ่น รวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพิธีสำคัญๆ เกือบจะทั้งหมดเป็นพระแสงดาบญี่ปุ่น หรือได้แรงบันดาลใจจากดาบญี่ปุ่นทั้งสิ้น

“ตั้งแต่สมัยอยุธยาก็มีนักรบของญี่ปุ่นมาช่วยในการสงคราม ถ้าสังเกตดาบอาญาสิทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็มีลักษณะแบบดาบญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระแสงดาบญี่ปุ่นเหมือนกัน ผมว่าดาบญี่ปุ่นไม่ได้ห่างจากสังคมไทย เพียงแต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้น”

ด้วยความที่สนใจดาบญี่ปุ่น นอกจากการค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจังแล้ว ยังเคยแม้กระทั่งไปลองตีดาบที่ญี่ปุ่น

“การจะตีดาบญี่ปุ่นได้ต้องฝึกนานถึง 3 ปี จึงจะให้เริ่มเป็นช่าง ซึ่งผมไม่ได้ลึกซึ้งขนาดนั้น และเคยเรียนโพลิชชิ่ง (การขัดเงา) เพราะดาบญี่ปุ่นนั้นในขั้นตอนการผลิตใช้ช่างหลายคน ตัวดาบก็ 1 ช่าง ช่างขัด ทำอะไหล่ และอะไหล่แต่ละชิ้นก็ใช้ช่างแยกไปตามแต่ละตระกูล ฉะนั้น ดาบแต่ละเล่มจะใช้ช่างอย่างน้อย 10 คน ส่วนใหญ่จะมีตระกูลช่างของเขา”

ที่ญี่ปุ่นจึงมีนักดาบที่ได้รับการยกย่องศิลปินแห่งชาติ ซึ่งใน 1 ปี จะตีดาบได้เพียง 20 เล่มเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ดาบแต่ละเล่มที่ผลิตออกมาเป็นดาบที่มีคุณภาพจริงๆ การตีดาบจึงเป็นศิลปะ

ขณะเดียวกันการจะไปหาซื้อดาบญี่ปุ่นก็ไม่ง่าย เพราะดาบทุกเล่มต้องมีทะเบียนเหมือนปืน และต้องแจ้งทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าของ ไม่ใช่ว่าซื้อปุ๊บเอากลับได้เลย ทั้งยังต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมายในการนำออกนอกประเทศ

ดาบตระกูลโทกุกาว่า ผ่านการคัตติ้ง เทสต์ มาแล้ว 8 ร่าง ที่ด้ามจะสลักและคร่ำด้วยทองคำบอกประวัติของดาบ (ภาพเล็ก) ตราประทับของตระกูลโทกุกาว่าบนด้ามดาบ
ดาบตระกูลโทกุกาว่า ผ่านการคัตติ้ง เทสต์ มาแล้ว 8 ร่าง ที่ด้ามจะสลักและคร่ำด้วยทองคำบอกประวัติของดาบ (ภาพเล็ก) ตราประทับของตระกูลโทกุกาว่าบนด้ามดาบ

คอลเล็กชั่นส่วนตัว เน้นเฉพาะดาบสำคัญลำดับต้นๆ

ดอยธิเบศร์บอกต่ออีกว่า ในส่วนของงานสะสมส่วนตัวนั้นจะเน้นดาบสำคัญ ที่มีความพิเศษ เช่น ดาบของตระกูลกัสสัน ต้นตะกูลดาบที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มาก

“สมัยก่อนมีโฆษณาของโรเล็กซ์ ซึ่งพรีเซ็นเตอร์ปกจะมีดารา นักแสดงมีชื่อเสียงระดับโลก กัสสัน ซาดาอิจิ เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโรเล็กซ์ ใส่โรเล็กซ์แล้วถือดาบ ผมสนใจมากว่าทำไมในบุคคลสำคัญๆ ระดับโลกจึงเลือกกัสสันเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งวันหนึ่งเราก็ได้เป็นเจ้าของดาบของต้นตระกูลเขา”

เวลาเก็บผมจะเก็บดาบแต่หัวๆ เช่น ดาบต้นตระกูล โดยจะเลือกดาบที่มีขนาดประมาณ 70 ซม. เผื่อใช้เองด้วย เพราะดาบญี่ปุ่น เป็น “คัสตอม เมด” (Custom made) ตีตามลักษณะผู้ใช้ ขนาดมือ ส่วนสูง คนญี่ปุ่นเมื่อก่อนจะตัวเล็ก ดาบส่วนใหญ่จะขนาด 60 กว่า ซม. การจะเลือกดาบที่ตีโดยต้นตระกูลดาบเอง และมีความยาว 70 ซม. จึงหาไม่ง่าย

นอกจากการเลือกสะสมเฉพาะดาบต้นตระกูลดังๆ แล้ว ดอยธิเบศร์ยังหลงใหลดาบที่เป็น “คัตติ้ง เทสต์” คือย้อนกลับไปสมัยเอโดะ การทดสอบความคมของดาบจะใช้วิธีการฟัน “ร่างกายมนุษย์” ช่างที่ฟันต้องเป็นนักดาบเท่านั้น ซึ่งยุคนั้นการประหารชีวิตคนก็จะใช้ดาบซามูไรเช่นกัน

ลักษณะของการคัตติ้ง เทสต์ จะมีแบบฟัน 1 ศพ ฟัน 2 ศพ หรือฟัน 3 ศพ คือ เอาศพมาเรียงซ้อนกันแล้วฟัน ส่วนใหญ่จะใช้ศพที่ตัดคอแล้ว คือเป็นนักโทษประหาร โดยจะมีท่าฟัน และตำแหน่งการฟัน เช่น ฟันกลางตัว ฟัน 45 องศา เหล่านี้ผมคิดว่าหมื่นเล่มจะมีสัก 1 เล่ม

ซึ่งเมื่อฟันแล้วจะสลักข้อความลงบนดาบและคร่ำด้วยทองคำ เช่น ฟันกี่ศพ วันเดือนปีที่ฟัน ท่าที่ฟัน และต้องให้เจ้าหน้าที่หรือนักดาบฟัน ฉะนั้น ผมสนใจดาบพวกนี้เป็นพิเศษ แต่หายาก และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก อย่างทางอเมริกา ซึ่งดาบที่แพงสุดที่ประมูลไปราคา 20 ล้าน เป็นดาบสมัยศตวรรษที่ 13

ดาบ (พร้อมฝัก) ของช่าง 1 ใน 5 ที่ได้ชื่อว่าทำดาบได้คมที่สุด เล่มนี้คัตติ้ง เทสต์ 2 ร่าง
ดาบ (พร้อมฝัก) ของช่าง 1 ใน 5 ที่ได้ชื่อว่าทำดาบได้คมที่สุด เล่มนี้คัตติ้ง เทสต์ 2 ร่าง

อาถรรพ์หรือไม่ อยู่ที่คนเชื่อ

ในเมื่อดาบประเภทหนึ่งที่ดอยธิเบศร์เน้นคือ ดาบที่ผ่านการ “คัตติ้ง เทสต์” หมายความว่า จะต้องทดสอบความคมของดาบด้วยการฟันร่างมนุษย์ ซึ่งโดยมากเป็นนักโทษประหาร มีทั้งที่เป็นศพแล้ว และที่ยังเป็นๆ ยังไม่นับอีกเป็นร้อยเป็นพันศพที่ต้องสังเวยคมดาบบนสนามรบ

แน่นอนว่า คำถามหนึ่งที่ต้องไม่พลาด คือเรื่องของอาถรรพ์

“เรื่องอย่างนี้แล้วแต่คนเชื่อ ซึ่งดาบพวกนี้ฆ่าคนมาหลักร้อยหลักพันคน เพราะผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี” ดอยธิเบศร์แบ่งรับแบ่งสู้

ผมศึกษาเรื่องเหล่านี้มา ผมมีความรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง มีจิตวิญญาณ เพราะถูกตีขึ้นมาด้วยความตั้งใจ คนตีต้องถือศีล ฯลฯ ฉะนั้น มันต้องมีความสำคัญ

“ถามว่าเจอเรื่องประหลาดมั้ย-ก็มี พอเอาเข้าบ้านช่วงนั้นก็มีอุบัติเหตุตกจากที่สูง ส่วนตัวผมไม่ได้เอามาผูกกันมาก แต่ก็มีเรื่องแปลกๆ อยู่นิดหน่อย เราก็ขออนุญาตเขานิดนึง ตอนที่ผมได้ดาบคัตติ้ง เทสต์ มา ตอนจะเอากลับบ้านผมก็เอาเงินญี่ปุ่นโบราณไปขอซื้อกลับมา ก็เหมือนกับเวลาเราให้ของมีคมกันก็จะให้สตังค์” ดอยธิเบศร์บอก และแย้มว่า

ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าเก็บไว้หรอกครับ แต่ผมไม่ได้กลัว เพราะเกิดมาก็เห็นอยู่แล้ว และเรามีเจตนาดี ในอนาคตเราก็จะทำเป็นมิวเซียมที่เชียงราย อาจจะจัดนิทรรศการใหญ่ที่กรุงเทพฯสักครั้ง ก่อนจะย้ายไป เพราะผมเชื่อว่าดาบที่ผมมีมีคุณค่ามากมาย

‘ซามูไร’ มาสเตอร์พีซล้วนๆ

ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับนิทรรศการ “ซามูไร” ที่จัดแสดงที่ห้อง The Space ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร ดอยธิเบศร์ บอกว่าอยากให้คนไทยได้เข้ามาชมกันมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่นำเอาชุดเกราะสำคัญ ระดับแม่ทัพบัญชาการรบ เก่าแก่ในราวศตวรรษที่ 16-17 มาให้ชม ซึ่งถือเป็นชิ้นไฮไลต์

“ชุดนี้มีรายละเอียดที่พิเศษมาก ผมไม่เคยเอาออกจากตู้เลย แม้กระทั่งตัวเองก็ยังไม่เคยเห็น เพราะเก่าแก่ระดับ 300-400 ปี จึงไม่อยากย้ายไปมา อย่างเสื้อตัวในที่เป็นผ้าไหมแทบเปื่อย แค่จับก็ยุ่ยแล้ว อยากให้มาดูกัน เพราะงานนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองไทยจัดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีที่ทางญี่ปุ่นนำเข้ามาจัดแสดง แต่เป็นของใหม่ เพราะการจะเอามาจัดแสดงต้องขออนุญาตต่างๆ มากมาย โอกาสที่จะได้ดูจึงไม่ง่าย”

นอกจากนี้ ยังมีชุดเกราะระดับนายพล และนายทหารระดับล่าง รวมทั้งภาพเขียนสีโบราณในตู้กระจกด้านหน้าทางเข้าห้องจัดแสดงที่เล่าถึงการรบของซามูไรเมื่อสมัยเอโดะ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทย นั่นก็เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ

ส่วนดาบซามูไรนั้น ดอยธิเบศร์บอกว่า พร้อมจะนำมาให้ชม แต่ต้องมีตู้จัดแสดงที่ควบคุมอุณหภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก

ที่สำคัญคือ อันตรายมาก เพราะเป็นของมีคม และคมมากด้วย

อย่างดาบ 2 เล่มที่นำมาให้เก็บภาพ เล่มหนึ่งเป็นดาบของสายตระกูลโชกุนโทกุกาว่า ที่ผ่านการคัตติ้ง เทสต์มากถึง 8 ร่าง และอีกเล่มเป็นดาบของคุมาโมโต้ ซึ่งเป็นท็อป 5 ของนักทำดาบที่จัดว่าคมที่สุด โดยดาบเล่มนี้ผ่านการคัตติ้ง เทสต์มาแล้ว 2 ร่าง

นิทรรศการ “ซามูไร” เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เมษายน 2559 แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

The post เปิดโลก ‘ซามูไร’ เรื่องน่าทึ่งของดาบญี่ปุ่น ของรัก ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’ appeared first on มติชนออนไลน์.

วันแห่งราชวงศ์จักรี

$
0
0

วันเริ่มแรกของราชวงศ์จักรี คือวันนี้ 6 เมษายน 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง

กรุงเทพมหานครมีชื่อเต็มว่า

“กรุงเทมพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรมประสิทธิ์”

แรกเริ่มพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” กระทั่งถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ่าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงแก้พระนามเป็น

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา”

ครั้นถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวร” เป็น “อมร” เปลี่ยน “มหินทอยุธยา” โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น “มหินทราอยุธยา” แล้วเติมสร้อยเปลี่ยนการสะกดคำ “สินท์” เป็น “สินทร์” อันเป็นที่มาในชื่อเต็มของ “กรุงรัตนโกสินทร์”

นับแต่วันปราบดาภิเษก 6 เมษายน 2325 ถึงวันนี้ ยาวนานถึง 234 ปี เช่นเดียวกับวันวางเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2535

ราชวงศ์จักรี นับจากล้นเกล้ารัชกาลแรกถึงรัชกาลนี้ คือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช คือรัชกาลที่ 9 ซึ่งครองราชย์มายาวนานที่สุดกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ของทุกประเทศ

ขอให้ราชวงศ์จักรีจงอยู่ยาวนานต่อไปตราบนานเท่านาน ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงยิ่งขึ้น

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ 1,568.7 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดใหญ่อันดับที่ 68 ของไทย และเป็นอันดับที่ 73 ของโลก เป็นเมืองหลวงที่มีพื้นที่กว้างเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคอาเซียน

ตั้งแต่ปี 2505 ถึงปี 2555 กรุงเทพมหานครสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับหลายประทศ คือ

ปี 2505 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 2536 กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 2540 กรุงมอสโก กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ 2547 อัสตานา คาซัคสถาน 2548 แต้จิ๋ว จีน 2549 นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรุงโซล เกาหลีใต้ กรุงอังการา ตุรกี กรุงฮานอย เวียดนาม กรุงอูลันบาตอร์ มองโกเลีย กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ฟูกูโอะกะ ญี่ปุ่น กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา

2550 มิลาน อิตาลี ลิเวอร์พูล สหรราชอาณาจักร กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เคปทาวน์ แอฟริกาใต้ กรุงดาเปสต์ ฮังการี ซิดนีย์ เพิร์ท บริสเบน อออสเตรเลีย

2552 กว่างโจว จีน ลากุนดา สวีเดน สยอร์ดัล นอร์เวย์ อิสตันบูล ตุรกี 2553 กรุงริยาด ซาอุดี อาระเบีย 2553 กรุงมาดริด สเปน

2555 ดานัง โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ กรุงเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

อนึ่ง วันนี้ 6 เมษายน เวลา 10.00-12.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโครงการความร่วมมือกับสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนลาว นำโดย ท่านสะหวันคอน ราดชะมนตรี รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว นายกสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาวพร้อมคณะ ที่เดินทางมากระชับสัมพันธ์ของสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 8 เมษายนนี้ จัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน ในหัวข้อ

“Laos as the host of ASEAN”

ขอเชิญเพื่อนสมาชิกและสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง และพบปะสังสรรค์กับเพื่อนสื่อมวลชนลาว

The post วันแห่งราชวงศ์จักรี appeared first on มติชนออนไลน์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ : เคหสถานเดิม ร.1 ที่อยุธยา

$
0
0

อยุธยา ไม่มีป้ายบอกแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญๆ โดยเฉพาะย่านเคหสถานเดิม ร.1 ใกล้ป้อมเพชร ใกล้ตลาดใหญ่ของชาวจีน และใกล้วัดสุวรรณดาราราม (วัดทอง) ของพระปฐมบรมชนกนาถ

ท้องถิ่นอยุธยาน่าจะร่วมกันทำให้ทั่วทุกแห่งของอยุธยา มีป้ายบอกความเป็นมาย่อๆ เริ่มก่อนตรงนี้ที่ย่านเคหสถานเดิมของ ร.1

เคหสถานเดิมของ ร.1 บริเวณย่านการค้าของชาวจีน ใกล้ป้อมเพชร (มีวงกลมในภาพประกอบ) หัวมุมเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (แผนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระเจ้าบรมโกศ จากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2549 หน้า 80)

วัดสุวรรณดาราราม (เดิมชื่อวัดทอง) อยู่ในเกาะเมืองอยุธยา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้แม่น้ำป่าสัก มีคำบอกเล่าว่าสร้างโดยพระปฐมบรมชนกนาถ นามเดิมว่าทองดี บนพื้นที่ละแวกเคหสถานเดิม จึงให้นามวัดครั้งแรกว่าวัดทอง ครั้นถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม แล้ววาดจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติพระนเรศวรไว้ในวิหาร มีประวัติย่อบนแผ่นป้ายไว้ในวัด ส่วนทางเข้าหน้าวัดมีป้ายชื่อวัดขนาดมหึมา แต่ไม่มีป้ายบอกไว้ริมถนนให้คนรู้ย่านเคหสถานเดิม ร.1

วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : เคหสถานเดิม ร.1 ที่อยุธยา appeared first on มติชนออนไลน์.

หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีชีวิต(1)

$
0
0

ในปี 2015 เมืองหลวงพระบาง ได้รับรางวัล Award of Merit จากองค์กร UNESCO และได้รางวัล Best City จาก Wanderlust Travel คนไทยหลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดเมืองเล็กๆ ของประเทศเล็กๆ อย่าง สปป.ลาว ถึงประทับใจนักท่องเที่ยว และองค์กรระดับโลกต่างๆ ได้มากขนาดนี้

หลวงพระบางเป็นเมืองโบราณ เก่าแก่นับพันสามร้อยปี ตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อเดิมว่า เมืองซัว ขุนลอโอรสของขุนบูลม วีรกษัตริย์ในตำนานของเผ่าไตได้ยึดเอาเมืองซัว แล้วสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐนามเชียงทอง ปกครองสืบต่อมาสิบห้ารุ่น ก่อนจะถูกอาณาจักรน่านเจ้ายึดครอง สลับเปลี่ยนมือมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจ จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มประกาศเอกราชตั้งอาณาจักร

ล้านช้างสถาปนาเชียงทองเป็นนครหลวง และพระเจ้าโพธิสารราชอาราธนาพระบาง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาประดิษฐาน จึงได้นามหลวงพระบางเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรลาวล้านช้างสืบต่อมา

เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จนิวัติกลับมาจากปกครองนครเชียงใหม่ ทรงพิจารณาว่า หลวงพระบางเป็นเมืองในหุบเขายากจะขยายให้เป็นเมืองใหญ่ จึงย้ายนครหลวงไปสร้างที่เมืองซายฟอง ตั้งเป็นนครหลวงเวียงจันในปี ค.ศ. 1560 ทำให้หลวงพระบางเป็นเมืองหลวงทางเหนือมีเชื้อพระวงศ์ล้านช้างปกครอง จนกระทั่งกลับมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางอีกครั้งในสมัยที่ลาวแตกเป็นสามอาณาจักร และอยู่ในความคุ้มครอง (Protectorate) ของฝรั่งเศส ภายหลังสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1901

ความงดงามของเมืองหลวงพระบาง ในปัจจุบัน เกิดขึ้นผสมผสานระหว่างวัดวาอารามโบราณในยุคล้านช้าง กับบ้านเรือนตึกรามที่สร้างขึ้นในยุคอาณัติปกครองของฝรั่งเศส ประกอบกับการทำนุบำรุงรักษาอย่างดีและมีรสนิยมร่วมกันระหว่างทางการเมืองหลวงพระบาง กับโครงการอนุรักษ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝรั่งเศส รวมถึงความช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคจากญี่ปุ่น ทำให้หลวงพระบางสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ความสงบเรียบง่ายงดงาม วิถีชีวิตของชาวลาวทั้งเชื้อสายลาวและชนเผ่า ไปพร้อมกับการปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวเป็นที่น่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน

การสร้างหรือต่อเติมอาคารใหม่ในเขตอนุรักษ์ของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง มีข้อจำกัดและข้อบังคับมากมายเพื่อรักษาสภาพและรูปลักษณ์ของเมืองให้กลมกลืนกันในแบบเฟรนช์โคโลเนียล ในส่วนของวัดวาอาราม ก็ได้รับการวางแผนบูรณะและฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ร่วมดำเนินการ และใช้ผู้รับเหมาในท้องถิ่นซึ่งเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับศิลปะล้านช้างหลวงพระบางรับงาน มากกว่าจะเน้นราคาประมูลหรือให้ผู้รับจ้างรายใหญ่รับงานไปทำ

นอกจากนี้ ผู้อาศัยในเขตเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ยังมีทั้งชาวลาวที่อยู่อาศัยเองมาแต่เดิม และผู้ที่เข้ามาเช่าหรือซื้ออาคารต่างๆ ปรับปรุงเป็นเรือนพัก

เกสต์เฮาส์ หรือโรงแรมสมัยใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนลาวหรือชาวต่างชาติ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการก่อสร้าง การทิ้งขยะ ระบบบำบัดน้ำเสียและการตกแต่งอาคารให้เข้ากับเมืองอย่างเคร่งครัด

ความสงบเรียบง่าย ความเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเหล่านี้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เลือกมาหลวงพระบางส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก หรือญี่ปุ่น เกาหลี ที่มาเป็นครอบครัว ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่านี้มีมารยาทและเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตของเมือง จับจ่ายใช้สอยเป็นเม็ดเงินจำนวนมากต่อหัว ทำให้เศรษฐกิจของเมืองหลวงพระบางสามารถดำเนินไปด้วยการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้แก่ชาวลาวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อรสนิยมและความงดงามของเมืองและของประเทศอีกด้วย

แต่ชีวิตของชาวหลวงพระบางนอกเขตเมืองมรดกโลกจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ

The post หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีชีวิต(1) appeared first on มติชนออนไลน์.


ชวนฟิน…สารพันเมนู”ปลานิล”12 ร้านดัง โครงการ”1 จานจากใจ…มื้อปลาอิ่มใจ”

$
0
0

“ปลานิล” ทำอะไรก็อร่อย!

ถ้าให้คิดเร็วๆ เมนูที่คุ้นเคย อาทิ ปลานิลผัดฉ่า ปลานิลทอดกระเทียมพริกไทย ปลานิลทอดน้ำปลา ปลานิลนึ่งมะนาว ฯลฯ

แต่ในความเป็นจริง สำหรับมืออาชีพแล้วสามารถรังสรรค์เป็นเมนูได้วิจิตรพิสดารมากมาย ทั้งแนวอาหารไทย จีน ฝรั่ง หรือจะเป็นแนวฟิวชั่นสารพัด เพราะเนื้อปลาที่แน่น และเนื้อละเอียด ที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาจนถึงรุ่นที่ 4 จากปลานิลหัวโต ตัวเล็ก จนได้ปลานิลหัวเล็กและมีเนื้อเยอะ มีคุณภาพที่ดี เหมาะแก่การส่งออก

ที่สำคัญคือ เป็นปลาที่ให้ลูกทุก 3 เดือนตลอดปี ไม่ได้ออกลูกเฉพาะฤดูวางไข่ และกลายเป็นปลาเศรษฐกิจ

ศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าว่า

ภายหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯถวายพันธุ์ปลาน้ำจืดตระกูลทิลาเปีย จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2508 ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ได้ทรงเลี้ยงลูกปลาเหล่านั้นไว้ในบ่ออนุบาลในพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อขยายพันธุ์ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำปลาดังกล่าวไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร รวมทั้งปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีให้กับประชาชน
พร้อมทั้งพระราชทานนามว่าปลานิล

“พระราชประสงค์แรกเริ่มของพระองค์คืออยากให้ปลานิลเป็นแหล่งอาหารราคาไม่สูงสำหรับชาวบ้านที่ยากจน”

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เลี้ยงปลานิลกว่า 400,000 ไร่ มีฟาร์มเลี้ยงปลานิลรวมกว่า 280,000 แห่ง สร้างผลผลิตรวมราว 200,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่านับ 10,000 ล้านบาท

เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ และในโอกาส 50 ปี ปลานิลพระราชทาน ภัตตาคารและเชนร้านอาหารดัง 12 แบรนด์ พร้อมใจสร้างสรรค์เมนูพิเศษจาก “ปลานิลจิตรลดา” พันธุ์ปลาพระราชทาน ในโครงการ “1 จานจากใจ…มื้อปลาอิ่มใจ” ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2559

Salted Caramel Ice-cream with จิตรลดา นิล บิสกิต
Salted Caramel Ice-cream with จิตรลดา นิล บิสกิต

ชัยเทพ ภัทรพรไพศาล ในฐานะผู้แทน “ชมรม ๑ จานจากใจ” บอกว่า เหล่าพันธมิตรภัตตาคารและร้านอาหาร รู้สึกเป็นเกียรติ อิ่มใจ และตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเทิดพระเกียรติ เฉลิมฉลอง ตลอดจนสานต่อแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้ ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการล้วนพบว่า ทั้งที่ “ปลานิลมีราคาไม่สูง แต่กลับอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเนื้อปลาแน่น ละเอียด และยังสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารชั้นเลิศได้หลากหลายมาก ทั้งเมนูไทย จีน และฝรั่ง อยากให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ปลานิลก็สามารถนำมาทำเป็นอาหารจานหรูได้เอร็ดอร่อย พวกเราทั้ง 12 ร้านได้ระดมพลังความคิดสร้างสรรค์พร้อมทั้งเตรียมเมนูปลาไว้ถึงกว่า 30 เมนูด้วยกัน พร้อมแล้วที่จะเสิร์ฟตลอด 70 วัน นับจากวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปลานิลให้กับเกษตรกร เป็นต้นไป”

สำหรับภัตตาคารและเชนร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ “1 จานจากใจ…มื้อปลาอิ่มใจ” ในครั้งนี้ได้แก่ Lee Cafe, Chester”s, เสวย, ภัทรา, แซบอีลี่, เลอ ปลาแดก, Shrimp Haus, Triplets Brasserie, ตะลิงปลิง, อินจัน สามพราน, JM Cuisine (เจ๊กเม้ง) และแม่ช้อยดอยหลวง

ส่วนเมนูเด่น อาทิ ส้มตำปลานิลทูลเกล้าฯ, ห่อหมกปลานิล, ผัดพริกขิงปลานิลฟู, ปลานิลย่างเกลือ, ปลานิลซอสพะแนง, แกงหน่อตาลโตนดปลานิล, ขนมจีนน้ำยาปลานิล, ข้าวน้ำตกปลานิล, ปลานิลย่างซอสพริกกระเทียม, Salted Caramel Ice-cream with Chitralada Nil Biscuit และอีกหลากเมนูปลานิล

นี่เพียงแค่ไตเติ้ล ของจริงยังมีเมนูสุดครีเอตอีกมากมายกว่า 30 เมนู ให้เลือกฟินกันอย่างจุใจ…ว่าแต่จะเริ่มจากร้านไหนดี!

แกงหน่อตาลโตนดปลานิล เจเอ็ม ควิซีน
แกงหน่อตาลโตนดปลานิล เจเอ็ม ควิซีน

The post ชวนฟิน… สารพันเมนู”ปลานิล”12 ร้านดัง โครงการ”1 จานจากใจ…มื้อปลาอิ่มใจ” appeared first on มติชนออนไลน์.

สกู๊ป น.1 : สำรวจ”อยุธยา”ป้อมเพชร-วัดสุวรรณฯ “บ้านเดิม”รัชกาลที่ 1

$
0
0

สำรวจนิวาสสถานเดิมบรรพชน ร.1 ที่อยุธยา พบไม่ได้รับการดูแลรักษา ชาวอยุธยาและนักวิชาการเรียกร้องให้มีป้ายบอกประวัติความเป็นมาย่อๆ ของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมทั่วอยุธยา เพื่อกระตุ้นการศึกษาประวัติศาสตร์-เสริมท่องเที่ยวไทย

เนื่องในวันจักรี 6 เมษายน มติชนออกสำรวจสถานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับปฐมบรมราชจักรีวงศ์ที่มีบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์อภินิหารบรรพบุรุษ กับพระราชหัตถเลขาของ ร.4 พระราชทานเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ มีบอกโดยสรุปว่า พระปฐมบรมชนกนาถสมรสกับธิดาคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุด โดยมีเคหสถานอยู่ตรงมุมตะวันออกเฉียงใต้ ภายในกำแพงเมืองอยุธยา

“ตั้งแต่วัดทอง หรือวัดสุวรรณ ยาวไปป้อมเพชร จนถึงคลองในไก่ ช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นเคหสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 กับบรรพชนของท่าน ควรมีข้อความทำป้ายง่ายๆ บอกไว้ พร้อมแผนผังคร่าวๆ”

นายพะเยาว์ เข็มนาค (อายุ 69 ปี ชาวอยุธยาโดยกำเนิด อดีตหัวหน้าฝ่ายโบราณสถานสำนักศิลปากรที่ 3 อยุธยา กรมศิลปากร) นำทางมติชนสำรวจนิวาสสถานเดิมบรรพชน ร.1 ดังกล่าว ปัจจุบันได้แก่บริเวณกว้างตั้งแต่วัดสุวรรณดารารามหรือวัดทอง กับป้อมเพชร จนถึงคลองในไก่ หรือคลองมะขามเรียง ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนราษฎร และสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ที่สมัยอยุธยาเป็นตลาดใหญ่ย่านคนจีน คู่กับตลาดน้อยมีในเอกสารของหอหลวงแผ่นดินขุนหลวงหาวัด พระเจ้าอุทุมพร

นายพะเยาว์ เข็มนาค ชาวอยุุธยา อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ยืนชี้ย่านการค้าชาวจีนยุคอยุธยาบริเวณที่ควรเป็นนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ใกล้คลองในไก่ไปทางวัดสุวรรณดาราราม และป้อมเพชร
นายพะเยาว์ เข็มนาค ชาวอยุุธยา อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ยืนชี้ย่านการค้าชาวจีนยุคอยุธยาบริเวณที่ควรเป็นนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ใกล้คลองในไก่ไปทางวัดสุวรรณดาราราม และป้อมเพชร

 

นายสมบัติ พลายน้อย หรือนักเขียนความรู้ประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับนับถือกว้างขวาง นามปากกา ส.พลายน้อย กล่าวว่า ตนเป็นคนอยุธยา สมัยเป็นเด็กนักเรียนต้องเดินผ่านโบราณสถานต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปในตัว ส่วนประเด็นเรื่องบ้านเกิดของรัชกาลที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณป้อมเพชรและวัดสุวรรณดารารามนั้น เชื่อว่าแม้แต่คนอยุธยาเองก็ไม่ค่อยมีคนทราบมากนัก

นอกจากผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ซึ่งมีไม่กี่คน ดังนั้น ควรติดป้ายอธิบายข้อมูลดังกล่าวให้คนรับทราบ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มาก ไม่เพียงเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่สิ่งสำคัญคือคนท้องถิ่นจะได้รับรู้และตื่นตัวว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จะได้เกิดความภาคภูมิใจและดูแลรักษาต่อไป

“คนอยุธยาส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ นอกจากคนที่สนใจประวัติศาสตร์ ซึ่งมีไม่กี่คน แม้แต่คนที่บ้านอยู่ใกล้ๆ ยังไม่รู้เรื่อง ดังนั้น ควรทำป้ายอธิบายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบริเวณป้อมเพชรและย่านวัดสุวรรณดาราราม ว่าเป็นบ้านเกิดรัชกาลที่ 1 จะได้เกิดความคึกคักว่าย่านนี้พระเจ้าแผ่นดินเคยประทับอยู่ ชาวบ้านจะได้ดีใจ นักเรียนก็เกิดความสนใจ คนจะไปเที่ยวหรือไม่ไปก็ไม่เป็นไร ปักป้ายเอาไว้ให้เป็นที่รู้กันว่าถ้าจะไปดูก็ยังมีถ้าไม่มีการทำให้ชาวบ้านรู้ความสำคัญ เขาก็ไม่ภูมิใจ ไม่ดูแลรักษา”

นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากย่านบ้านเกิดรัชกาลที่ 1 แล้ว ยังควรทำป้ายอธิบายข้อมูลชื่อบ้านนามเมืองในจุดอื่นๆ ด้วย เช่น ชื่อสถานที่ซึ่งตั้งตามชื่อคน จะได้ทราบว่าเป็นใคร เพราะเรื่องเหล่านี้เมื่อไม่มีผู้สืบต่อ ก็จะค่อยๆ หายไปจากความทรงจำ

ป้อมเพชร ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ศูนย์กลางการค้านานาชาติยุคอยุธยา คาดว่าพื้นที่ในย่านดังกล่าว คือนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี
ป้อมเพชร ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ศูนย์กลางการค้านานาชาติยุคอยุธยา คาดว่าพื้นที่ในย่านดังกล่าว คือนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี

 

นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นานาชาติ) จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องราวของการเป็นย่านนิวาสสถานเดิมของบิดาในรัชกาลที่ 1 กลับไม่ได้ถูกเน้นเท่าที่ควร ซึ่งมองว่าต้องร่วมมือกันในการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

“ประวัติวัดเป็นเรื่องเปิดเผย เป็นที่รู้กันในแง่ความสวยงามและสถานภาพว่าเป็นวัดหลวงสำคัญของอยุธยา รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระนเรศวรก็แพร่หลายมาก แต่เรื่องการเป็นนิวาสสถานเดิมของพระราชบิดาในรัชกาลที่ 1 ไม่ได้ถูกเน้นหรือพูดถึงเท่าที่ควร การดำเนินการต้องเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีทั้งกรมศิลปากรซึ่งรับผิดชอบโดยตรง อบจ.และ อบต.ก็ควรให้ความสำคัญกับคุณค่าและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมือง องค์กรซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของจังหวัด หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำบทบาทตรงนี้หรือเปล่า จริงๆ แล้วต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และศาสนา ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นร่วมกันรับผิดชอบ” นายสุเนตรกล่าว

นายวรรณพงษ์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชาวอยุธยาโดยกำเนิด กล่าวว่า คนในพื้นที่ไม่รู้ว่าบ้าน ร.1 อยู่แถวนี้

อาจจะรู้แค่ว่าเกี่ยวกับราชวงศ์จักรี เพราะสมัยก่อนวัดดังกล่าวจะมีกฐินหลวงทุกปี อีกทั้งทางวัดเองก็ไม่ได้พูดถึงเลยว่ามีบ้าน ร.1 หรือตรงนี้เป็นย่านตลาดใหญ่ที่สุดของคนจีนสมัยอยุธยา ก็ไม่น่าจะรู้กัน หรือแม้แต่คนที่นำเที่ยวก็ไม่ได้พูดถึง อาจจะให้ความสำคัญในส่วนอื่นๆ ของวัดมากกว่า อีกทั้งเวลาคนมาเที่ยวอยุธยาก็ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับแถวนี้ เนื่องจากจะไปเที่ยวเฉพาะพระราชวังโบราณมากกว่า ตนในฐานะคนอยุธยาอยากให้มีการส่งเสริมให้คนทราบข้อมูลส่วนนี้

“อยากให้มีการให้ความรู้มากๆ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์สังคมของอยุธยา หรือที่เรียกว่าภูมิวัฒนธรรม ถ้าจะมีป้ายบอกความเป็นมาเกี่ยวกับย่านบ้าน ร.1 ก็เห็นด้วยมากๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจของพื้นที่มากขึ้น สังคมจะได้ประโยชน์มากๆ นอกจากความรู้ที่ได้แล้วอาจนำไปสู่การต่อยอดด้านอื่นๆ เช่น การสร้างเรื่องราวให้การสินค้าในชุมชน ส่งผลในแง่การท่องเที่ยววัดนี้ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม ที่นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ของอยุธยาที่มีแต่วัดกับวังอย่างที่ผ่านมา” นายวรรณพงษ์กล่าว

The post สกู๊ป น.1 : สำรวจ”อยุธยา” ป้อมเพชร-วัดสุวรรณฯ “บ้านเดิม”รัชกาลที่ 1 appeared first on มติชนออนไลน์.

ย้อนอดีต 6 เม.ย. 2475 ชมภาพชุดพิธีเปิด “สะพานพุทธ” และพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.1 (มีคลิป)

$
0
0

6 เมษายน พ.ศ. 2325 รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ดำรงสถิตสถาพรสืบมา

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็น อนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 150 ปี ในปี 2475 จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล และได้มีมติตกลงสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 หรือ ‘พระปฐมบรมราชานุสรณ์’ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณ รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมกับฝั่งธนบุรีในคราวเดียวกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมรูปและสะพาน โดยกำหนดสร้างตรงต่อปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร คือ ถนนระหว่างวัดราชบูรณะกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้เชิงสะพานฝั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

รัชกาลที่ 7 ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานพุทธ
รัชกาลที่ 7 ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานพุทธ

กรมพระยานริศ ฯ ทรงออกแบบ – ศิลป์ พีระศรี ปั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ รัชกาลที่ 7 โปรดให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งขณะนั้นทรงอำนวยการแผนกศิลปากรคิดแบบและอำนวยการก่อสร้างเป็นพระบรมรูปทรง เครื่องขัตติยาภรณ์ เสด็จประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่อยู่เหนือพระเพลา

ส่วนการปั้นและหล่อด้วยสัมฤทธิ์นั้น ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ปูชนียบุคคลของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการ

ความสูงของประติมากรรม ตั้งแต่ฐานตลอดยอด 4.60 เมตร (ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร) ฐานกว้าง 2.30 เมตร มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่ออีกชั้นหนึ่ง พระบรมรูปฯ ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร

หุ่นต้นแบบในการปั้นและหล่อสัมฤทธิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 โดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
หุ่นต้นแบบในการปั้นและหล่อสัมฤทธิ์ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 โดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

เบื้องหลังก่อเป็นกำแพงหินอ่อนกั้นตอนกลางเจาะเป็นช่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลัก 2 ข้าง หน้าบันประดับลายปูนปั้นลานพวงมาลัย เหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม ด้านหลังกำแพงเป็นแผ่นจารึกหินอ่อน จารึกความเป็นมาของการก่อสร้าง และภายหลังได้มีการเสริมกำแพงให้สูงขึ้นไปอีก เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ และพานเครื่องประดับ มีน้ำพุ อยู่ทั้ง 2 ข้าง

บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนคล้ายเป็นลวดลายไทยวางทอดอยู่ กึ่งกลางแผ่นสลักเป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น ซึ่งเป็นตรา “ปฐมบรมราชจักรีวงศ์” ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองด้านมีบันไดลาดจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ลงมาเป็น ชั้นๆ จนถึงพื้นด้านล่างซึ่งประดับด้วยพันธุ์ไม้ดอกเป็นแนวยาว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของภาพชุดอันทรงคุณค่าในความทรงจำของปวงชนชาวไทย

รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินตรวจงานก่อสร้างสะพานพุทธ
รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินตรวจงานก่อสร้างสะพานพุทธ

 

รัชกาลที่ 7 ทรงทำพิธีปเิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
พิธีเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

 

หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ตีพิมพ์ข่าวงานฉลอง
ประชาชนและข้าราชการภาคส่วนต่างๆ บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 จาก นสพ.L’ILLUSTATION ของฝรั่งเศส ซึ่งเผยแพร่ข่าวงานฉลองครบรอบ 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2475

 

เปิดสะพานพุทธ

เปิดสะพานพุทธ

 

เปิดสะพานพุทธ

เปิดสะพานพุทธ

เปิดสะพานพุทธ

เปิดสะพานพุทธ

ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายเก่าส่วนหนึ่งจาก “ศูนย์ข้อมูลกรุงรัตนโกสินทร์” และ “พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร”  www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/bangkokmuseum

The post ย้อนอดีต 6 เม.ย. 2475 ชมภาพชุดพิธีเปิด “สะพานพุทธ” และพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.1 (มีคลิป) appeared first on มติชนออนไลน์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ : เคหสถานเดิม ร.1 ที่อยุธยา

$
0
0

อยุธยา ไม่มีป้ายบอกแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญๆ
โดยเฉพาะย่านเคหสถานเดิม ร.1 ใกล้ป้อมเพชร ใกล้ตลาดใหญ่ของชาวจีน และใกล้วัดสุวรรณดาราราม (วัดทอง) ของพระปฐมบรมชนกนาถ
ท้องถิ่นอยุธยาน่าจะร่วมกันทำให้ทั่วทุกแห่งของอยุธยา มีป้ายบอกความเป็นมาย่อๆ โดยเริ่มก่อนตรงนี้ที่ย่านเคหสถานเดิมของ ร.1

นิวาสถสานร.1

เคหสถานเดิมของ ร.1 บริเวณย่านการค้าของชาวจีน ใกล้ป้อมเพชร (มีวงกลม) หัวมุมเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (แผนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระเจ้าบรมโกศ จากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2549 หน้า 80)

 

ป้อมเพชร
ป้อมเพชร

 

ย่านในไก่ ตลาดใหญ่ยุคอยุธยา
ย่านในไก่ ตลาดใหญ่ยุคอยุธยา

 

เจดีย์บรรจุพระอัฐิพระชนกในรัชกาลที่ 1 ที่วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : เคหสถานเดิม ร.1 ที่อยุธยา appeared first on มติชนออนไลน์.

จากกำปุงเมืองชวา ถึงกำปุงเมืองจีน

$
0
0

ในภาษาอินโดนีเซียมีคำเก่าแก่ชนิดรากเหง้าอยู่คำหนึ่งคือ “kalima อ่านว่า กาลีม่า” ประกอบขึ้นจากคำสองคำว่า “kali”+“ma” โดย “kali” หมายถึง ครั้ง คราว ใช้กับการนับจำนวนต่างๆ อาจเป็นคำเดียวกับคำไทยเดิมว่า “ครา” กินความไปถึงเรื่องสายน้ำ เรื่องของจิตวิญญาณ และยังหมายถึงนิ้วมือทั้งห้า เครื่องมือตรวจนับฉบับแรกของมนุษย์ ในขณะที่ “ma” ใช้เป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ เช่น ไอ้นั่น ไอ้นี่ ตรงกับคำไทย ไท-ไตว่า มะ หรือ หมาก เมื่อรวมความหมายทั้งสองคำ จึงกลายมาเป็นคำเรียก “มือ” และเลขห้า “lima อ่านว่า ลิม่า”

คำว่า “kali” นี้ ศาสตราจารย์ Robert Blust ได้อธิบายถึงคำเก่าแบบ “living fossil” ไว้ในหนังสือเล่มหนาชื่อ “The Austronesian Languages Revised Edition 2013” ในหัวข้อ “6.3.1.11 *qali/kali- ‘sensitive connection with the spirit world” ว่าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายในหมู่ออสโตรนีเซียนทั้งหลาย เช่น ถ้านำคำว่า “kali” ไปเติมหน้าคำไหน คำนั้นจะมีความหมายเชิงจิตวิญญาณเข้ามาพัวพันทันที

เมื่อนิ้วทั้งห้ารวบเข้าหากันในเวลาโกรธเกรี้ยว หรือใช้ในการหิ้วจับสิ่งของต่างๆ ที่ไม่ใช่การเรียงนับจำนวนครั้ง จะเกิดคำว่า “genggam” อ่านว่า เกิงกำ แปลว่า ยึด ถือ หรือ กำ (มือ) เป็นคำสามัญที่นักภาษาศาสตร์ได้ชี้ว่า ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งพวกไท-ไตและออสโตรนีเซียน และปรากฏคำสั้นร่วมสมัยกับ “genggam” คือคำว่า “kam” ด้วยความหมายพื้นฐานว่า “การรวมเข้าด้วยกัน” เป็นคำโดดที่ถูกใช้ประกอบสร้างคำอื่น เช่น คำว่า “kampung อ่านว่า กำปุง” แปลว่า หมู่บ้าน (ที่อยู่ติดชายน้ำ) หรือ “kambang อ่านว่า กำบัง” แปลว่า การแผ่จากจุดรวมลอยออกไปบนผิวน้ำ เป็นต้น

คำว่า “kampung” มาจากคำสองคำ “kam”+“pung” โดยคำหลัง “pung” แสดงออกในลักษณะฟุ้งกระจาย หรือโป่งพองตัวออกของสิ่งเล็กละเอียด เป็นคำเดียวกับคำไทย ไท-ไตว่า “ฟุ้ง” “ปุง” และ “พุง” รวมความหมายว่า การรวมเข้าด้วยกันของสิ่งเล็กๆ ฟุ้งกระจายอยู่ภายใน หรือแปลเป็นภาษาจับต้องได้ว่า หมู่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “kambang” อยู่บ้าง เพราะคำหลังนี้แสดงการขยายตัวออกไปเป็นแพบางๆ

คำว่า “kalima” “genggam” และ “kam” และ “กำ” ในความหมายร่วมว่า การรวมเข้าด้วยกัน ยังผันผายมาถึงคำว่า “คำ” ของพวกไทยจนถึงไท-ไต ใช้สำหรับการกินข้าวด้วยขยุ้ม (กำ) มือทีละคำ ขยายออกเป็นคำ (กำ) พูดสื่อภาษาจนถึงทุกวันนี้

และขอให้สังเกตถึงความเชื่อมโยงกับคำว่า “kuala อ่านว่า กัวลา” และคำว่า “กระ” ที่แปลว่า จุดรวม ที่รวมของลำน้ำสายเล็กๆ ปากแม่น้ำไหลลงไปรวมกับแม่ทะเล จนถึงคำว่า “เกล้า” ที่แปลว่าการรวบมวยผมเข้าไว้ด้วยกัน

คำของพวกอุษาคเนย์ หากขยายขึ้นไปยังเรื่องราวของพวกเยว่ ที่เข้าใจกันว่าพูดภาษาไท-ไต ชอบสักตัว ตัดผมสั้น เชี่ยวชาญเรื่องทางน้ำกว่าใครๆ และเป็นเจ้าของบทเพลงอื้อฉาวชู้รัก (ชายกับชาย) โด่งดังข้ามสหัสวรรษ “Song of the Yue Boatman” เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว

และเป็นพวกเยว่ที่ครั้งหนึ่งเคยขยายตัวขึ้นเหนือจนถึงแคว้นวู่ ตรงปากแม่น้ำแยงซีเกียงของแผ่นดินจีน ชื่อเดิมของเมืองซูโจว ที่เรียกว่า “*klaa-sa” หรือเขียนในแบบ Old Chinese ว่า “*saa-tju” (Zhengzhang Shangfang1991) หากคำ “*klaa-sa” สามารถอ่านแบบอุษาคเนย์ได้ว่า กระ-ซ่า แปลว่าจุดรวมสายน้ำของพวกข้า และคำ “*saa-tju” อ่านใหม่ว่า ซา-โจว แปลว่าข้าเป็นคนจ้วง
โดยจัดให้ “โจว” อยู่ในกลุ่มเดียวกับ จู่ แจว จ้วง เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรือและสายน้ำ เป็นคำภาษาไท-ไตและออสโตรนีเซียนแต่ดั้งเดิม เช่น คนจ้วง หมายถึงผู้ใช้ชีวิตกับลำน้ำ มากกว่าที่จะแปลว่าคนป่าชอบเข้าปะทะต่อสู้ หรือเมืองกว่างโจว ที่ตั้งอยู่ติดกับปากแม่น้ำจูเจียง เป็นต้น

หากถอยลงใต้ไปยังกุ้ยโจวและกวางสี Jerold A. Edmondson ได้อธิบายเรื่องพวก Kam-ก้ำ สายหนึ่งของตระกูลภาษาไท-กะได ไว้ในบทความเรื่อง “The power of language over the past: Tai settlement and Tai linguistics in southern China and northern Vietnam” ตีพิมพ์ในปี 2013 คัดมาบางส่วนว่า

“The village was located in the mouth of a mountain redoubt or basin, or surrounded by a fence. The autonym Kam or Dongzu, nowadays rendered as侗族 in Chinese, have similar meanings. Kam means ‘to be in an enclosed area or those that live in an enclosed area’ and this practice was rendered with the character峒 ‘Mt. Kungtung (in Gansu Province),’ perhaps to suggest such an enclosed and protect style of dwelling to a distant Emperor.”

หมายถึงพวกนี้มักอาศัยอยู่ในหุบเขา หรือในแอ่งทุ่งที่โอบล้อมด้วยภูเขาสูง คล้ายเมืองต่างๆ ในแอ่งภาคเหนือของไทย ที่มีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลผ่านกลางหุบเขา ที่สำคัญและน่าสนใจอยู่ตรงคำว่า “to be in an enclosed area or those that live in an enclosed area” คือใจกลางของการเรียกตัวเองว่า “Kam” ซึ่งตรงกับความหมายของ “kalima” “genggam” “kam” “กำ” และ “คำ” อย่างไม่ผิดฝาผิดตัวแม้แต่น้อย

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

The post จากกำปุงเมืองชวา ถึงกำปุงเมืองจีน appeared first on มติชนออนไลน์.

ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 4 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’ (ต่อ)

$
0
0

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ  มีจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรพิสดาร
สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีภาพจิตรกรรมวิจิตรพิสดาร

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

เครื่องประดับเศียร
บทความโดย นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกวิชาการ กองโบราณคดี (ต่อจากตอนที่แล้ว)

ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)
ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

สำหรับเครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 2 นั้นเป็นแบบเดียวกับเครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฎหมายเก่าเล่ม 2 ว่าด้วยกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงเครื่องประดับเศียรสตรีไว้ว่า

(1) พระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชประโภคมีมงกุฎเกือกทอง
(2) พระราชเทวี พระอัครชายา ทรงราโชประโภคลดมงกุฎทรงพระมาลามวยหางหงส์
(3) ลูกเธอเอกโท ใส่เศียรเพชร มวยกลม
(4) หลานเอกโท ใส่เศียรเพชร มวยกลม
(5) แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ ใส่สนองเกล้า
(6) ชะแม่หนุนหยิก ใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแชม
(7) โขลนเกล้ารัดแครง
(8) เมียนา 10,000 หัวเมืองทั้งสี่ เมื่องานใส่เศียรเพชรมวย เมียจตุสดมภ์เกล้าหนุนหยิกเกี้ยวแชม
(9) เมียนา 5,000 นา 3,000 หนุนหยิกแชม”

มาลาทองคำ

เครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา
เครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา

เครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 2 ที่ได้จากวัดราชบูรณะนี้ เข้าใจว่าเป็นพระมาลามวยหางหงส์ของพระราชเทวี พระอัครชายา
เฉพาะลวดลายนั้น คล้ายลายที่ได้จากภาพเขียนในซุ้มพระสถูป วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย และลายจากวิหารพระศรีอาริย์ วัดพระเชตุพน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย น่าสังเกตว่าครั้งอยุธยาตอนต้น ในด้านวัฒนธรรมมีบางอย่างคล้ายกับสุโขทัย เช่น
1.พระพิมพ์แบบสุโขทัย ขุดได้ที่กรุวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.พระพิมพ์แบบอู่ทอง พบในกรุวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย
3.ตัวหนังสือแบบสุโขทัยที่มีองค์พระพิมพ์ทำด้วยดีบุก พบที่กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
4.ลวดลายที่มงกุฎของเทวรูปสมัยสุโขทัย เหมือนกับลวดลายที่มงกุฎพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

มาลาทองคำ

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 

The post ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 4 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’ (ต่อ) appeared first on มติชนออนไลน์.

“ลุ ล่วง ลวง หลวง” เมื่อครั้งยังไม่บรรลุ

$
0
0

“ลุ” คำไทย ที่อาจหมายรวมถึงพวกไท-ไต ให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า ถึงแล้ว สำเร็จเสร็จสิ้น เป็นคำที่พูดเมื่อไรก็กินขอบเขตถึงวิถีแห่งการเดินทาง โดยไม่ต้องการคำแจกแจงว่า จากจุดเริ่มต้นดั้นด้นผ่านรายทาง จนประสบผลสิ้นสุดที่ตรงปลาย เน้นย้ำที่จุดสิ้นสุดเป็นสำคัญกว่าส่วนอื่น

คำนี้เมื่อเอาไปผสมร่วมประกอบกับ “บรร-” เป็น “บรรลุ” ก็กลายเป็นคำยืมจากภาษาเขมร และแปลแบบเดียวกันว่า ทำสำเร็จ ถึงปลายทาง ซึ่งเห็นว่าควรแยกแยะกันให้ชัดเจนว่า ตรงไหนที่หยิบยืม และตรงไหนที่เป็นของเก่าเดิม ไม่ใช่หมายรวมในภายหลังว่าเป็นคำยืมทั้งคำ

คำว่า “ลุ” ตรงกับคำเก่าแก่ในภาษาอินโดนีเซียว่า “lu อ่านว่า ลุ ลู หรือ ลู่” ซึ่งมีความหมายเชิงนามธรรมว่า คือบางสิ่งคล้ายเส้นทาง มีความยาว เริ่มที่จุดตั้งต้น เดินทางผ่านไป จนถึงจุดสิ้นสุด
เป็นคำที่ใช้ประกอบคำอื่นหลายคำ เช่น “bulu อ่านว่า บูลู” แปลว่า เส้นขน หรือ “dulu อ่านว่า ดูลุ” แปลว่า เก่าก่อน แรกเริ่ม เคยครั้งหนึ่ง หรือ “dahulu อ่านว่า ดาฮูลุ” แปลว่า เมื่อก่อน ก่อนหน้า หรือ “hulu อ่านว่า ฮูลู” แปลว่า ส่วนหัว หรือ “lusa อ่านว่า ลูซา” แปลว่า วันมะรืน หรือ “lalu อ่านว่า ลาลู่” แปลว่า ที่ผ่านมาแล้ว หรือ “lubang อ่านว่า ลูบัง” แปลว่า รู หรือ “ludah อ่านว่า ลูด่ะฮ์” แปลว่า น้ำลายที่ไหลออกจากปาก หรือ “malu อ่านว่า มาลู่” แปลว่า เงียบๆ หรือ “perlu อ่านว่า เปอร์ลู่” แปลว่า อาการอยาก หรือ “talu อ่านว่า ตาลุ” แปลว่า ยาวไป อย่าให้ขาดตอน เป็นต้น

หรือแม้แต่คำที่ใช้นับตัวเลขพื้นฐานในตระกูลออสโตรนีเซียน ก็ยังใช้ “lu” ในการสร้างคำถึงสามคำ ได้แก่ “telu อ่านว่า เตอลุ” แปลว่า เลขสาม

“walu อ่านว่า วาลุ” แปลว่า เลขแปด และ “sepuluh อ่านว่า เซอปุลุฮ์” แปลว่า เลขสิบ

โดยที่เลขสาม “telu” แปลว่า การผ่านจากเลขหนึ่งจุดเริ่มต้นหรือพ่อ ไปยังเลขสองจุดสิ้นสุดหรือแม่ ล้นออกมาเป็นลูก เลขแปด “walu” แปลว่า การผ่านจากเลขหกจุดเริ่มต้นของสายน้ำ ไหลตั้งทิศทางออกไปยังเลขเจ็ด แล้วแผ่กระจายตัวออก และเลขสิบ “sepuluh” แปลว่า การรวมเข้าของสายน้ำย่อยๆ จนกลายเป็นท้องทะเลกว้าง

ส่วนตัวของผู้เขียน ให้คำ “lu” และ “ลุ” นี้เป็น living fossil ร่วมรากคำหนึ่ง ที่แสดงบรรยากาศเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรมจับต้องเป็นเนื้อเป็นหนังได้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาอย่างมีนัยยะ

ในทางธรณีวิทยา living fossil หมายถึง สิ่งมีชีวิตโบราณเก่าแก่ ที่ยังสามารถรักษาโครงสร้างรูปร่างแบบเดิมๆ และอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น แมงดาทะเล เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เจ้าสัตว์ชนิดนี้แทบไม่มีความแตกต่างจากบรรพชน ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนหน้า

เมื่อ “lu” และ “ลุ” ดำเนินไปภายใต้เส้นทางและบรรยากาศเชิงนามธรรม จากจุดหนึ่งถึงยังอีกจุด ก็หมายความว่ามีการซ้อนทับกับคำว่า “ล่วง” ซึ่งแปลว่า ผ่านจากจุดหนึ่งเข้าไปยังขอบเขตพื้นที่ของอีกจุด เช่น ล่วงล้ำ ล่วงนานหลายปี ล่วงหน้า ล่วงเกิน เป็นต้น แต่ยังไปไม่ถึงในอีกฝั่ง เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเล ซึ่งการเหลื่อมซ้อนความหมายค่อนข้างมากเช่นนี้ อาจตีความได้ว่า “ล่วง” นั้นอาจจะเกิดพร้อมๆ กับคำว่า “ลุ” เลยทีเดียว “ลุ” ที่เป็นต้นทางของคำว่า “ลู่” ทางในภายหลัง

ด้วยความรู้สึกของการแหวกว่ายอย่างโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ นำไปสู่ความหมายใกล้เคียงในคำร่วมสมัยอีกคำว่า “ลวง” ที่ปัจจุบันถูกแปลใช้ในทางร้ายมีเล่ห์เหลี่ยม เช่น ล่อลวง หลอกลวง ลวงข้าศึก เป็นต้น หากความหมายเชิงนามธรรมออกได้ว่า สิ่งว่างเปล่า ไม่มีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของคำว่า”ล่วง” อย่างแยกไม่ออก และยังเป็นคำที่เข้าใจว่า ขยับขยายต่อเนื่องลงมาเป็นคำใหม่ๆ ว่า “โล่ง” และ “กลวง”

ที่สำคัญนอกจากนั้น ยังอาจกินข้าวก้นบาตรมาด้วยกันกับคำว่า “หลวง” ซึ่งแปลทั่วไปว่า ของส่วนรวม ของสาธารณะ และสิ่งกว้างขวางใหญ่โต เช่นแผ่นดินแผ่นน้ำและผืนฟ้า เป็นคำกลางดั้งเดิมของพวกไท-ไต เกือบทั้งเครือมานมนาน เช่น พวก Saek, Lungchow, Cao Bang, Bao Yen, Sapa และไทยสยาม แปลในความหมายว่าใหญ่ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “big”
และให้ช่างบังเอิญหรือไม่ เพราะในคำอินโดนีเซียคำหนึ่งคือ “luang อ่านว่า ลุอัง” มีความหมายในทำนองว่า ว่างเปล่า โล่ง ไม่มีอะไร เป็นศูนย์ รวมถึงไม่มีการครอบครอง ซึ่งชัดเจนว่าตรงทั้งรูปคำและความหมายกับคำไทย ไท-ไต ว่า “ลวง” และ “หลวง” และยังเป็นคำในกลุ่มเดียวกับคำว่า “lu” เช่นเดียวกับ “ลุ” และเพื่อนพ้อง

คำว่า “luang” ถ้าเติมหน้าเป็น “terluang อ่านว่า เตอร์ลุอัง” ก็แปลใกล้เคียงว่า เปิดเผย เปิดโล่ง และยังว่างอยู่ หรือเติมเป็น “peluang อ่านว่า เปอลุอัง” จะแปลว่า โอกาสที่เปิดให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น

จากความสัมพันธ์ทั้งหมดข้างต้น ส่งนัยยะให้ตีความได้ว่า คำ “ลุ” “ล่วง” “ลวง” “หลวง” ข้ามฝั่งไปจนถึง “lu” และ “luang” ไม่ใช่กลุ่มคำที่ต่างคนต่างพัฒนาขึ้นมาอย่างอิสระ หากควรมีรากเหง้าดั้งเดิมร่วมกัน ผู้พูดผู้ใช้คำเหล่านี้ต้องรู้และเข้าใจความหมาย ที่เป็นแก่นและกระพี้เป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในคำเก่าแก่ที่เคยมีการใช้ร่วมกันมา บนแผ่นดินผืนน้ำที่ไหนสักแห่งในครั้งดึกดำบรรพ์ มากกว่าการมองในมุมของการเคลื่อนย้ายถ่ายทอดหยิบยืมไปมา โดยที่หมู่ผู้พูดดั้งเดิมจำนวนมากไม่เคลื่อนตามไปด้วย แบบการยืมภาษาจากพระเวท หากต้องเป็นการปะทะสังสรรค์กันอย่างหนักหน่วง ผสมผสานเข้ากันจนเกือบเป็นเนื้อเดียว ในท่วงท่าการปรากฏของภาษามอญและเขมรในภาษาไทยลุ่มเจ้าพระยา

ก่อกำเนิดสายพันธุ์ภาษาใหม่หลังถึงฝั่งตั้งหลักตั้งตัวได้ ผ่านระยะทางและกาลเวลาอันยืดยาว จนเกือบตัดขาดจากภาษาแม่โดยสิ้นเชิง หลงเหลือเพียงเยื่อใยที่บางเบา พอให้เชื่อมจากจุดกำเนิดตั้งต้น ผ่านเส้นทางคลื่นลมแปรปรวนกลางทะเลเวิ้งว้างว่างเปล่า จนถึงจุดหมายปลายทาง เป็นอันถือว่าเสร็จสิ้น “บรรลุ” ธรรม

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

The post “ลุ ล่วง ลวง หลวง” เมื่อครั้งยังไม่บรรลุ appeared first on มติชนออนไลน์.


ฮือฮา! ลาวทุ่ม 700 ล้านกีบ สร้าง’ฮูปปั้นซาย’ฉลองสงกรานต์ธีมอาเซียน

$
0
0

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ข่าวใน สปป.ลาว www.tholakhong.com รายงานข่าวการสร้างประติมากรรมทราย หรือ “ฮูปปั้นซาย” ที่หาดดอนจัน เมืองจันทบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ จำนวน 13 ชิ้น ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับประเทศในอาเซียน โดย 10 ชิ้นเป็นผลงานที่แสดงถึงสถานที่หรือศิลปะชิ้นเอกของประเทศสมาชิก อาทิ บุโรพุทโธ อินโดนีเซีย, ปราสาทบายน กัมพูชา และเมอร์ไลอ้อน หรือสิงโตพ่นน้ำ ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนอีก 3 ชิ้นเป็นงานที่สื่อถึงมรดกทางวัฒนธรรมลาว ได้แก่ พระธาตุหลวง, ช้าง และพญานาค

ประติมากรรมทั้งหมดเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ลาว ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 10,000 กีบ

ท่านนางลัดสะดาพอน บุดสะดี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมของบริษัท Proplus Agency ผู้รับเหมางานดังกล่าว เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวมีการจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ในปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมาโดยเน้นไปที่มูนมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของลาวและประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ตบพระธาตุทราย, ศิลปะการแสดง, การเดินแบบเครื่องนุ่งฝ้ายลาว, การแข่งขันกีฬา และการเล่นน้ำสงกรานต์ รวมถึงกิจกรรมชมธรรมชาติตามลำน้ำของเมืองเวียงจันทน์อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “มติชน” รายงานว่า หลังจากข่าวกิจกรรมดังกล่าวรวมถึงภาพประติมากรรมทรายได้รับการเผยแพร่ออกไป ได้มีประชาชนชาวลาวบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณของภาครัฐว่าใช้จ่ายในจำนวนเงินมากเกินไป ควรเก็บไว้ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตามได้มีผู้แสดงความเห็นคัดค้านว่า งบประมาณดังกล่าวเป็นของเอกชน ซึ่งเข้ามาดำเนินการขอสัมปทานในการจัดงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่อย่างใด

ปีใหม่ลาว

ปีใหม่ลาว

ปีใหม่ลาว

ปีใหม่ลาว

ปีใหม่ลาว

ที่มาภาพ : www.tholakhong.com  และเฟซบุ๊ก Laos 100,000,000 SHARE

The post ฮือฮา! ลาวทุ่ม 700 ล้านกีบ สร้าง’ฮูปปั้นซาย’ฉลองสงกรานต์ธีมอาเซียน appeared first on มติชนออนไลน์.

แพขนานยนต์ชัยนาท ยันเปิดบริการปกติ ย้ำระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว

$
0
0

จากกรณีมีการเสนอข่าวว่าจากการตรวจสอบระดับน้ำเจ้าพระยา ใน จ.ชัยนาท พบว่าลดลงแตะระดับวิกฤต ส่งผลให้แพขนานยนต์เชื่อมระหว่าง 2 จังหวัด ที่ให้บริการข้ามฟากจาก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ไปยัง อ.เมืองอุทัยธานี อาจจะต้องหยุดให้บริการจากปัญหาร่องน้ำที่ตื้นเขิน โดยจากการสำรวจบริเวณเกาะเทโพ ซึ่งอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นแบ่งเขต อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท กับ อ.เมืองอุทัยธานี ทำให้เห็นว่าระดับน้ำที่ลดต่ำลงแตะระดับวิกฤต 14 เมตรในปัจจุบันซึ่งวัดได้ 14.33 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เริ่มส่งผลให้เกิดสันดอนทรายขวางร่องน้ำการเดินเรือของแพขนานยนต์ข้ามฟาก ระหว่าง 2 จังหวัด นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายบัญชา ช้างเขียว เจ้าของแพขนานยนต์ศรีประเสริฐ ยืนยันว่าระดับน้ำในปีนี้ไม่ได้ลดลงมาในระดับวิกฤตกระทั่งไม่สามารถรับส่ง ผู้โดยสารได้ นอกจากนี้ หากวัดระดับน้ำในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปีนั้บปีที่ผ่านมา ถือว่าในปีนี้มีระดับสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่า และยืนยันว่า แพยังสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ตลอด โดยจากการที่ตนเองได้พูดคุยและสอบถามไปยังเขื่อนเจ้าพระยา ก็ยืนยันว่า ระดับน้ำจะไม่ลดลงกว่านี้ สามารถใช้บริการได้ทั้งปี ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

“แพยังรับส่งผู้โดยสารได้ตามปกติ เพราะปีนี้มีการจัดการน้ำได้ดี ถ้าเทียบกับปีที่แล้วซึ่งต้องหยุดให้บริการแพตั้งแต่ช่วงต้นปี ในขณะที่ปีนี้ยังสามารถให้บริการได้ตลอด สอบถามทางเขื่อนเจ้าพระยาก็ได้ข้อมูลว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนมากกว่าปีก่อน ชาวบ้านยังใช้อุปโภคบริโภคได้ ก่อนหน้านี้มีคนเข้าใจผิดว่าแพหยุดรับส่ง ทำให้ยอดผู้โดยสารลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์” นายบัญชากล่าว
ทั้งนี้ แพขนานยนต์ศรีประเสริฐ เป็นผู้ให้บริการแพเก่าแก่ในจังหวัดชัยนาท โดยเปิดบริการมานานกว่า 30 ปี เดิมเป็นแพไม้ไผ่ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นแพเหล็ก ทำให้สามารถรองรับรถยนต์ได้จำนวนมากและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยในช่วงเทศกาลมีประชาชนนำรถยนต์ลงแพเฉลี่ยวันละกว่า 500 คัน เนื่องจากช่วยร่นระยะทางได้มาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังวัดท่าซุง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

แพศรีประเสริฐ02

The post แพขนานยนต์ชัยนาท ยันเปิดบริการปกติ ย้ำระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว appeared first on มติชนออนไลน์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ : วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา ย่านเคหสถานเดิม ร.1

$
0
0

เคหสถานเดิมของ ร.1 อยู่บริเวณตั้งแต่วัดสุวรรณดาราราม ไปจนถึงป้อมเพชร และคลองในไก่ (คลองมะขามเรียง)
จะชี้ตรงไหนแน่นอนคงยาก เพราะไม่มีหลักฐานบอกตรงๆ มีแต่บอกกว้างๆ ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษกับพระราชหัตถเลขาของ ร.4 (ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง)
ดังกรมศิลปากรมีป้ายบอกไว้ในวัด จะคัดมาดังนี้

วัดสุวรรณดาราราม Wat Suwandararam

วัดสุวรรณดาราราม อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ ใกล้ป้อมเพชร วัดสุวรรณดารารามเป็นวัดเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สถาปนาขึ้นโดยพระสุนทรอักษร (ทองดี) พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณอันเป็นนิวาสสถานเดิมของตระกูล วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดทอง”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และโปรดเกล้าฯ ถวายนามวัดใหม่ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”
สิ่งก่อสร้างในวัดได้มีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 และปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ในคราวสมโภชกรุงเทพฯ ครบ 150 ปี

ป้ายบอกประวัติวัดและเคหสถานเดิมของ ร.1 ปักตั้งไว้ลานจอดรถในวัดสุวรรณดาราราม ที่ไม่มีคนรู้ จึงไม่มีคนอ่าน
ป้ายบอกประวัติวัดและเคหสถานเดิมของ ร.1 ปักตั้งไว้ลานจอดรถในวัดสุวรรณดาราราม ที่ไม่มีคนรู้ จึงไม่มีคนอ่าน

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา ย่านเคหสถานเดิม ร.1 appeared first on มติชนออนไลน์.

ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 5 ‘ตามรอยโจร’ (ชมผังบรรจุสมบัติ)

$
0
0

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เครื่องทองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วมกันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

รายงานการเปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ

โดย นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร

ผมได้เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 17.00 น. ถึงอยุธยาเวลา 19.00 น. ตั้งใจว่าจะไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แต่ได้ทราบว่าผู้ว่าฯออกตรวจท้องที่ จึงไปพบผู้กำกับการตำรวจหารือว่าจะลงตรวจกรุที่ผู้ร้ายขุดในวันรุ่งขึ้นหรือประการใด ผู้กำกับการตำรวจขอร้องให้ลงตรวจในคืนวันนั้น เพราะได้ทราบจากปากคำของผู้ต้องหาที่จับมาได้ว่าในกรุยังมีของอีกมาก ถึงอย่างไรก็ต้องไปนั่งเฝ้าอารักขากันอยู่แล้ว ควรลงมือทำงานเสียเลย งานจะได้เสร็จไปเสียตอนหนึ่ง เพราะมีงานสืบสวนจับกุมเหลืออยู่อีกมาก

ฉะนั้นในคืนวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 21.00 น. จึงไปทำการตรวจกรุกัน โดยผมกับเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรอยุธยา 2 คน ลงกรุเก็บสิ่งของ ผู้กำกับการตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับของอยู่ปากกรุ และในการดำเนินงานคราวนี้เราได้วางกติกากันไว้ด้วยว่า ผู้ที่ลงไปในกรุทุกคนแม้แต่ตัวผมเอง เมื่อขึ้นมาจากกรุจะต้องให้ตำรวจตรวจค้นร่างกายก่อนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่าจะไม่ได้ยักยอกสิ่งของอย่างใดไว้

ตามรอย ‘โจรขุดกรุ’

ที่ที่ผู้ร้ายขุดลงไปนั้น อยู่ตรงศูนย์กลางในห้ององค์พระปรางค์ ตรงกรุพอดี ผู้ร้ายเปิดขนศิลาแลงลงไปลึกประมาณ 3.60 เมตร ตรงปากหลุมกว้างประมาณ 2.50 เมตร แล้วหลุมค่อยๆ เล็กสอบจนถึงก้นหลุมเหลือกว้างประมาณ 0.70 เมตร ก็ถึงห้องกรุ ห้องที่ 1 ขนาดห้องกว้าง 1.40 เมตร ทรงสี่เหลี่ยมสูง 1.50 เมตร ผู้ร้ายเจาะพื้นห้องกรุห้องที่ 1 ต่อลงไปเบื้องล่างอีกเป็นห้องกรุที่ 2 ทรงสี่เหลี่ยมขนาดห้องกว้าง 1.40 เมตร สูง 2.75 เมตร
ห้องนี้เป็นห้องเก็บเครื่องทองคำที่ผู้ร้ายขนไปมากมายนั้น มีซุ้มลึกเข้าไปในผนังประมาณ 37 ซม. ทั้ง 4 ด้าน ตามผนังและในซุ้มเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาด้วยสีชาดเต็มทั้งผนังและภายในซุ้มที่เพดานห้องกรุก็มีเขียนลวดลายเต็มเพดาน ภายในซุ้มทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตกมีโต๊ะสำริดสูง 42 ซม. กว้างประมาณ 33-44 ซม. ยาวประมาณ 71-72 ซม. วางอยู่ซุ้มละ 1 ตัว คงจะเป็นที่วางสิ่งของ ส่วนซุ้มด้านทิศใต้ไม่มีโต๊ะ

 

จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

“เมื่อผมลงไปถึงห้องนี้ ได้เห็นแหวน เครื่องทองคำชิ้นเล็กๆ พลอยและทับทิม คลุกเคล้าอยู่กับฝุ่นทรายพื้นห้องแพรวพราวไปหมด”

 

ตะลึง! เพชรนิลจินดาเคล้าฝุ่นทรายเต็มพื้น

ถัดซุ้มทั้งสี่ออกมา มีหินปูทำเป็นพื้นห้องเต็มทั้งห้อง หินที่ปูพื้นห้องหนา 17 ซม. การดำเนินงานลงเก็บของในกรุครั้งนี้ ได้ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อสายและดวงโคมลงไป เมื่อผมลงไปถึงห้องนี้ ได้เห็นแหวน เครื่องทองคำชิ้นเล็กๆ พลอยและทับทิม คลุกเคล้าอยู่กับฝุ่นทรายพื้นห้องแพรวพราวไปหมด

ผมและเจ้าหน้าที่เลือกเก็บสิ่งของอยู่จนถึง 01.00 น. ของวันที่ 29 ส่งขึ้นมาให้ผู้กำกับการตำรวจประมาณ 1 กระป๋องตักน้ำหูหิ้ว ของก็ยังไม่หมด จำต้องหยุดไว้ชั่วคราวเพื่อพักผ่อน ผู้กำกับการตำรวจนำสิ่งของไปใส่กรงเหล็กรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในคืนวันนั้น แล้ววางกำลังเจ้าหน้าที่ คือ ตำรวจ 4 นาย พร้อมอาวุธปืน และเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากร 2 คนอยู่เฝ้ากรุ เรื่องห้องกรุนี้จากปากคำของผู้ต้องหาว่ากรุห้องที่ 1 มีพระพุทธรูปทองคำบรรจุอยู่ 3-4 องค์ นัยว่าองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอกแล้วก็ไม่มีอะไรอีก ผู้ร้ายเกือบจะเลิกขุดค้นอยู่แล้ว เผอิญคนหนึ่งไปกระทุ้งพื้นห้อง เสียงก้องดังเป็นโพรงอยู่ข้างล่าง จึงได้ขุดพื้นห้องไปพบห้องที่ 2 ที่บรรจุทองคำและเพชรนิลจินดา

เครื่องทองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

แผนผังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
แผนผังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

"โต๊ะสัมฤทธิ์" ซึ่งปรากฏในบันทึกของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2500 ใช้วางสมบัติ เพชรนิลจินดา
“โต๊ะสัมฤทธิ์” ซึ่งปรากฏในรายงานการเปิดกรุของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2500 คาดว่าใช้วางสมบัติ เพชรนิลจินดา ของมีค่าต่างๆ ก่อนถูกโจรกรรมไป ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ ‘เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ธันวาคม 2559

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

The post ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 5 ‘ตามรอยโจร’ (ชมผังบรรจุสมบัติ) appeared first on มติชนออนไลน์.

สีสันเกณฑ์ทหารบึงกาฬ “น้องเป๊กกี้” นำทีมเพื่อนสาวนับ 10 เข้ารายงานตัว

$
0
0

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.59 16.00 น.บรรยากาศการตรวจเลือกทหาร ประจำปี 2559 จากหน่วยตรวจเลือกทหารในอำเภอเมืองบึงกาฬเป็นไปอย่างคึกคัก มีหนุ่มๆที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกตามกฎหมาย เดินทางมาเข้ารับการตรวจเลือกจำนวนมาก โดยในปี อำเภอเมืองบึงกาฬ มีบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเข้ารับการตรวจเลือก จำนวนทั้งสิ้น 354 คน ซึ่งมียอดรับเกณฑ์ทหารในครั้งนี้จำนวน 168 นาย แยกออกเป็นทหารจากสามเหล่าทัพ ทั้งทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ ซึ่งการตรวจเลือกในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีชายไทยให้ความสนใจเข้ารับสมัครเป็นทหารเกณฑ์ โดยไม่ขอจับสลากในครั้งนี้ถึง 99 คนซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง

สิ่งที่สร้างสีสันให้กับการคัดเลือกทหารในครั้งนี้คือบรรดาสาวประเภท 2 เดินทางมาเข้ารับการตรวจเลือกกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่มีการแต่งกายเป็นสาวสวย บางคนจากการตรวจร่างกายมีการแปลงเพศเป็นหญิง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินการตรวจเอกสาร และตรวจร่างกาย แต่ต้องให้การยกเว้น ถือว่าเป็นกลุ่มคนประเภทที่ 2 ที่ต้องได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย แต่ก็สร้างสีสันให้บรรยากาศการคัดเลือกทหารเป็นไปอย่างคึกคัก

นายปิยพนธ์ อินมียืน อายุ 22 ปี หรือน้องเป๊กกี้ ชาวบ้านห้วยเซือมใต้ ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ มาพร้อมกับความสูง 171 เซนติเมตร ผิวขาว ถือเป็นหนุ่มสวย หรือสาวประเภท 2 ที่มีรูปร่างเป็นหญิง ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่ ม.หอการค้าไทย เอกบัญชี ปีที่ 4 ต้องเดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมารับการตรวจเลือกทหารตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายชาวไทยทุกคน โดยบอกกับผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า ถึงแม้จะเป็นสาวประเภท 2 แต่ก็ต้องมารับการตรวจเลือกตามกฎหมาย และไม่รู้สึกกังวลหากจะต้องเป็นทหาร เพราะหากต้องจับสลากก็ต้องทำตามกฎหมาย แต่ก็ดีใจที่ได้รับการยกเว้นในวันนี้

เกณฑ์ทหาร บึงกาฬ2

เกณฑ์ทหาร บึงกาฬ3

 

The post สีสันเกณฑ์ทหารบึงกาฬ “น้องเป๊กกี้” นำทีมเพื่อนสาวนับ 10 เข้ารายงานตัว appeared first on มติชนออนไลน์.

Viewing all 1000 articles
Browse latest View live