แผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ (ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย) ราว 2,500 ปีมาแล้ว คัมภีร์อินเดียและลังกาเรียกสุวรรณภูมิ แปลว่าดินแดนทอง หรือแหลมทอง
เอกสารจีนโบราณ เรียก จินหลิน หรือกิมหลิน มีความหมายตรงกับชื่อสุวรรณภูมิ
แล้วเชื่อกันสืบมาว่าศูนย์กลางการติดต่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของสินค้า น่าจะอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง บริเวณที่รู้จักทั่วไปทุกวันนี้ว่าเมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี)
ราวหลัง พ.ศ. 1000 เอกสารจีนโบราณระบุชื่อบ้านเมืองทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองว่า หลั่งยะสิว หรือ หลั่งเกียฉู่
(มีนักวิชาการบางท่านว่ารัฐนี้อยู่ทางปัตตานี แต่หลักฐานและทิศทางที่บอกในเอกสารจีนไม่สนับสนุนอย่างนั้น)
รัฐหลั่งยะสิว ส่งทูตไปจีนระหว่าง พ.ศ 1045-1100 จดหมายเหตุจีนวาดรูปทูตไว้ด้วย มีผู้อธิบายว่านุ่งโจงกระเบน พาดผ้าขาวม้า (ไม่ใส่เสื้อ) สวมกำไลข้อเท้า ฯลฯ
ชื่อหลั่งเกียฉู่ เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีผู้อธิบายแล้วแปลเป็นภาษาไทย สรุปว่าหมายถึง แม่น้ำอันเป็นบ้านที่อยู่ของมังกรและ/หรือลูกมังกร (พิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2554 และฉบับวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557)
ผมเดาเองว่าหลั่งยะสิวกับหลั่งเกียฉู่เป็นคำเดียวกัน แต่ต่างสำเนียง จึงมีความหมายตรงกัน ว่า แม่น้ำ (ท่าจีน )ซึ่งคดเคี้ยว เสมือนที่อยู่ของลูกมังกร (พ่อแม่มังกรอยู่ในเมืองจีน)
ทูตจากรัฐหลั่งยะสิว หรือหลั่งเกียฉู่ (รูปวาดในเอกสารจีนโบราณ) ไปจีน ราว พ.ศ. 1045-1100
The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : แม่น้ำท่าจีน ที่อยู่ของลูกมังกร appeared first on มติชนออนไลน์.