เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมชั้น 12 เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี มีการจัดประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยปิดกั้นเส้นทางสัญจรของประชาชนบริเวณโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระหว่างสถานีหลักหกถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยมีพลเอกวิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนชุมชนต่างๆเข้าร่วมจำนวนมากจนเจ้าหน้าที่ต้องนำเก้าอี้มาเสริม ทั้งนี้ครอบครัวของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 ซึ่งได้รับผลกระทบร่วมรับฟังด้วย
ผู้ตรวจการแผ่นดินย้ำ อย่ามองข้ามความเดือดร้อนชาวบ้าน
พลเอกวิทวัสกล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่ในชุมชน ซึ่งชาวบ้านร้องขอความเป็นธรรมโดยขอความช่วยเหลือ 4 ประการ ได้แก่ 1.ขอให้การรถไฟ ฯ เว้นพื้นที่กว้าง 6-8 เมตรเลียบทางรถไฟ เพื่อทำเส้นทางเชื่อมไปยังถนนเลียบคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่างที่ดินของเอกชนกับการรถไฟ 2. ทำรางน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากเส้นทางก่อสร้างมีการนำอุปกรณ์กีดขวางอยู่ จึงเกรงว่าจะมีปัญหาด้านการระบายน้ำ 3. ก่อสร้างสะพานลอยเชื่อมระหว่างเคหะชุมชนกับวัดรังสิต โรงเรียนและสถานีอนามัย 4. ขอทางออกเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟหลักหก ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและรักษาประโยชน์ของสาธารณะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
“การสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง เป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหลายล้านคนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่มองข้ามความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง ขอให้มั่นใจว่าจะมีการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรักษาผลประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแน่นอน” พลเอก วิทวัสกล่าว
ด้านนายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากราษฎรราว 1,000 รายในอำเภอธัญบุรีที่มีบ้านเรือนติดทางรถไฟ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างรั้วลวดหนามของโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้เส้นทางเข้าออกบริเวณซอยพหลโยธิน 87 ได้

ผู้ว่าการรถไฟสั่งกลางห้องประชุม ยุติ ‘กั้นรั้ว’ ปิดทางเข้า-ออก
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการสร้างรั้ว เนื่องจากมีเหตุการณ์รถไฟชนรถยนต์ และมีขบวนรถไฟนับ 100 ขบวน จึงห่วงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะยุติการสร้างรั้วดังกล่าวไว้ก่อน นอกจากนี้ จากการที่ตนลงพื้นที่ในชุมชน ยอมรับว่าหากไม่คิดหาทางออก ชาวบ้านเดือดร้อนแน่นอน จนจึงเชิญวิศวกรรวมถึงบริษัทก่อสร้างคือบริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยหาทางออก เพื่อลดผลกระทบ
สำหรับกรณีข้อเรียกร้องจากชุมชนทั้ง 4 ข้อ ตนไม่ขัดข้อง เว้นแต่กรณีการสร้างถนนเลียบทางรถไฟกว้าง 6-8 เมตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านเทคนิคการก่อสร้าง เนื่องจากในอนาคตแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงจะมีการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเชียงใหม่ และรถไฟความเร็วปานกลางจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันจึงยังไม่มีการปิดทางออก ซึ่งในระหว่าง 3 ปีนี้จะพยายามหาทางแก้ปัญหาว่าจะออกแบบทางออกอย่างไร

“ผมสั่งการเดี๋ยวนี้เลยว่าห้ามปิดทางออกเด็ดขาด และจะพิจารณาว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ตั้งแต่ทราบเรื่องก็ทำการบ้านมา รับรองว่าผลกระทบลดลงแน่นอน ส่วนประเด็นที่ขอมานั้น เรื่องลำรางระบายน้ำ ไม่มีปัญหา ทางการรถไฟจะดำเนินการตามที่ร้องขอโดยอาจวางท่อเชื่อมลำรางร่วมกัน สำหรับสะพานลอย ทางการรถไฟก็ไม่ขัดข้อง แต่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของชลประทาน หากจะทำจริง น่าจะออกแบบให้มอเตอร์ไซค์และจักรยานใช้สะพานได้ด้วย และกรณีทางออกเพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟ ในอนาคตมีแน่นอน เพราะจะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งบริเวณนั้นมีที่ดินจัดสรรของเอกชน ถ้าเวนคืน ชาวบ้านจะใช้เป็นทางออกทางด้านหลังได้ แต่ส่วนที่ขอให้สร้างถนนกว้าง 6-8 เมตร อาจกระทบด้านเทคนิคการก่อสร้าง เพราะแนวรถฟ้าสายสีแดงในอนาคตจะมีการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเชียงใหม่ และรถไฟความเร็วปานกลางจากจีน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการปิดทางออก เพราะโครงการนี้ใช้เวลาราว 3 ปี ยังมีเวลาแก้ปัญหาเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะต้องดูแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อนำมาดีไซน์ทางออก” นายวุฒิชาติกล่าว และว่า ข้อมูลที่ได้จากการหารือร่วมกันวันนี้ ตนจะกลับไปทำงาน โดยอาจมีทางเลือก 4-5 ทาง และจะสั่งคณะทำงานลงพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายทำงานไปพร้อมกัน โดยขอเวลาถึงเดือนมีนาคม คาดว่าจะได้ทางออกอย่างคร่าวๆ และกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง
เล็งเวนคืนที่ดินเอกชน ชาวบ้านเบรก ‘เจ้าของหวงมาก’
สำหรับ กรณีที่ดินจัดสรรของเอกชน ซึ่งอาจใช้เป็นทางออกได้นั้น เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดปทุมธานีซึ่งเข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวมีจำนวน 13 ไร่ หน้ากว้าง 40 เมตร ลึก 400 เมตร เป็นแนวยาว เจ้าของกรรมสิทธิ์มี 5 ราย ได้รับมรดกเมื่อ พ.ศ. 2509 ซึ่งหากเวนคืนแล้ว สามารถสัญจรไปออกทางโรงเรียนสายปัญญา
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านรายหนึ่ง แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่าที่ดินดังกล่าวมีการปลูกบ้านขวางไว้ อีกทั้งมีบ่อขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้เป็นทางออก นอกจากนี้เคยได้มีการพูดคุยกันแล้ว แต่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอมเพราะหวงแหนมาก อาจต้องให้ผู้ใหญ่ลงพื้นที่เจรจา
นายภิรมย์ เพียรเก็บ ตัวแทนชาวบ้านชุมชนเดชาพัฒนา 87 กล่าวว่า การเวนคืนที่ดิน 10 ปีก็คงไม่สำเร็จอย่างแน่นอน ดังนั้น อยากให้ใช้วิธีการทำทางระบายน้ำให้แคบลง จากที่ขุดไว้ในขนาด 7-8 เมตร เพื่อเว้นพื้นที่ให้ชาวบ้านใช้เป็นถนนในการสัญจร

ชุมชนสุขเกษมโชว์โฉนดที่ดิน วอนขอเส้นทางแค่ 2 กม.
นายอำนวย สงวนกลิ่น ชาวบ้านชุมชนสุขเกษม กล่าวว่า ชุมชนของตนได้รับผลกระทบอย่างมากจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเป็นความเจริญทางวัตถุ แต่ทำลายจิตใจของชาวบ้าน ซึ่งเดือดร้อนกว่าชุมชนเดชาพัฒนา 87 เพราะไม่มีทางออกเลย เมื่อจะมีการกั้นรั้วทางด้านหน้าซึ่งติดกับเส้นทางรถไฟ ทางด้านหลังก็ยังไม่สามารถใช้เป็นทางออกได้ เพราะติดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทั้งที่ชาวบ้านทุกรายมีโฉนดที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“พวกเราขอทางออกตั้งแต่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ไปเชื่อมกับชุมชนเดชาพัฒนา 87 เพื่อไปชนสะพานลอย แค่ราวๆ 2 กิโลเมตร สถานการณ์ตอนนี้ รถแบคโฮที่ทำการก่อสร้างจะโดนหลังคาบ้านอยู่แล้ว กล้าพูดเลยว่า บ้านมีโฉนดทุกหลังคาเรือน” นายอำนวยกล่าว

ผู้ว่าปทุม ฯ ‘เบาใจ’ รองนายกเทศมนตรี แนะตั้งคณะกรรมการติดตามผล
นาย สุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ตนรับทราบปัญหามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 โดยดูข้อมูลจากเอกสารโต้ตอบระหว่างเทศบาลกับการรถไฟฯ ที่ผ่านมาเคยรู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ในวันนี้ผู้ว่าการรถไฟฯรับรู้ปัญหาแล้ว จึงเบาใจ และคิดว่าไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้
นายเดชา กลิ่นกุสุม รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า ตนขอเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจตั้งคณะกรรมการบูรณาการและติดตามผลเรื่องนี้โดยตรง ส่วนตัวเห็นใจการรถไฟฯ เพราะโครงการใหญ่ย่อมมีปัญหาเยอะ ซึ่งทางเทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนตัวหนักใจเรื่องถนนเลียบทางรถไฟตามที่ชาวบ้านร้องขอ รวมถึงเรื่องน้ำ เพราะปัจจุบันบริเวณริมทางรถไฟเป็นทางระบายน้ำ

ศิลปินแห่งชาติ บอก ‘ขอมองโลกแง่ดี’
เชื่อประชุมครั้งนี้เป็น ‘สัญญาประชาคม’
ต่อมา เวลา 11.00 น. ผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปยังชุมชนเดชาพัฒนา 87 และชุมชนสุขเกษม ซี่งมีชาวบ้านรอต้อนรับและพูดคุยปัญหาดังกล่าว
นางป้อม วรเวทช อายุ 70 ปีกล่าวว่า ตนนอนไม่หลับมานานแล้วตั้งแต่ทราบเรื่อง หากมีทางเข้า-ออกจะไม่เรียกร้องหรือขอความเห็นใจ เนื่องจากคนในชุมชนมีทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการซึ่งต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นประจำ หากไม่มีทางออกจะลำบากมาก ในอดีตชาวบ้านใช้เรือสัญจร เมื่อมีการถมดินเป็นถนน ก็หันมาใช้ถนน แต่ในครั้งนี้จะไม่มีถนนให้ใช้อีก นอกจากนี้ หากเกิดไฟไหม้ ห่วงรถดับเพลิงเข้าไม่ได้

นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวว่า ในฐานะชาวบ้านชุมชนเดชาพัฒนา 87 ตั้งแต่ทราบเรื่องตนนอนไม่หลับมา 2 ปีแล้ว ชุมชนแถวนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ไม่ใช่เพิ่งมาอยู่ใหม่อย่างที่มักเข้าใจผิดกัน การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ต้องให้เครดิตชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งติดต่อกับหน่วยงานราชการด้วยตนเอง ซึ่งหลังจากมีวิศวกรเข้าไปแจ้งชาวบ้านว่าให้นำรถยนต์ออก เพราะจะกั้นรั้ว แล้วผู้ตรวจการมาลงพื้นที่ถือว่ารวดเร็วมาก กระทั่งมีการประชุมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคม
“ความรู้สึกขณะนี้ จะขอมองในแง่ดีว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาแล้ว และได้ให้ความหวังประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นการพบกันครึ่งทาง อย่างไรก็ตาม กรณีถนนเลียบทางรถไฟตนขอตั้งคำถามว่าเหตุใดจุดอื่นมี แต่ชุมชนแถบนี้ไม่มี อีกสิ่งหนึ่งที่ห่วงมากคือเรื่องการระบายน้ำ เพราะเมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ระดับน้ำย่านนี้ขึ้นสูงมาก คือเหนือทางรถไฟประมาณ 1 เมตร เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ” นายสุชาติกล่าว






The post รฟท.ห้ามปิดทางชุมชน-ยังไม่ไฟเขียวถ.เลียบราง เล็งนัดอีก’สุชาติ’ข้องใจทำไมจุดอื่นมี appeared first on มติชนออนไลน์.