เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนเปิดภาคเรียนใหม่ของน้องหนู ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก (เปิดก่อนหน้านี้) และตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือเริ่มการศึกษาภาคบังคับ คือตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
น้องหนูที่ผ่านชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังผลการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งอยู่ระหว่างสอบสัมภาษณ์ บางแห่งที่สอบตรงมอบตัวเรียบร้อย หลายคนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนที่ไหน ระหว่างมหาวิทยาลัยเปิด เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชน
น้องหนูบางคนเริ่มหันไปเรียนอาชีวศึกษาชั้นสูง
เดือนนี้เป็นเดือนที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องวิ่งเต้นหาสตางค์มาเป็นค่าใช้จ่ายให้น้องหนูคนละไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องใช้ ค่าแบบเรียน อุปกรณ์การเรียน น้องหนูที่ยังเล็ก ต้องไปโรงเรียนกับรถโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมสตางค์ไว้เป็นค่ารถรับส่งทุกเดือน
ไม่รู้ว่าน้องหนูเด็กโตที่ทำงานระหว่างปิดภาคเรียน มีเงินเหลือเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนหรือไม่ เพราะห้วงเวลาปิดภาคเรียนปลายปีมีเวลานานนับเดือน หากน้องหนูไม่มีภาระที่ต้องสอบขึ้นระดับมหาวิทยาลัย และมีโอกาสหางานทำ น่าจะมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้บ้างแหละ
ยุคสมัยนี้ เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบดิจิตอล เครื่องมือและอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และใช้งานทุกด้านผ่านโทรศัพท์มือถือแทบทั้งสิ้น
เชื่อว่าน้องหนูที่รู้ความแล้วมีโอกาสใช้เครื่องมืออุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแทนอุปกรณ์อย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร ซื้อของ ขายของ แม้แต่เรียนรู้หาความรู้ใหม่
ขอให้น้องหนูใช้เครื่องมืออุปกรณ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างน้อยให้คุ้มกับราคาและโปรแกรมในแต่ละระบบของเครื่องนั้น
ยุคสมัยทุกวันนี้ การเรียนในห้องเรียนแม้ยังจำเป็น แต่การเรียนนอกห้องเรียนจำเป็นไม่น้อยกว่ากัน
หมายความว่า การเรียนรู้จากเครื่องมือที่มีระบบให้ความรู้ข้อมูลกับน้องหนูเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต้องการรู้อะไร รู้ได้ทันที
ขณะที่ข้อมูลข่าวสารในระบบดิจิตอลซึ่งมีในเครื่องโทรศัพท์มือถือตอบสนองความต้องการของน้องหนูได้ทุกเรื่อง ดังนั้นจึงควรเสาะหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และสร้างประโยชน์ให้กับวิถีชีวิต รายได้ที่สุจริตกับตัวเอง มากกว่าจะหาข้อมูลข่าวสารอันไม่เป็นประโยชน์
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ระหว่างการเรียนการสอนของโรงเรียน ของครู ที่จะถ่ายทอดให้นักเรียนในชั้นเรียน เชื่อว่าครูวันนี้เรียนรู้เรื่องระบบไซเบอร์ โซเชียลมีเดียกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งหวังว่าจะติดต่อสื่อสารกับนักเรียนได้เป็นอย่างดี แม้ว่านักเรียนจะก้าวหน้าไปกว่าก็ตาม
ปัญหาที่ห่วงวันนี้คือ เรื่องของระบบอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นแล้วในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ แต่ยังไม่น่าจะแพร่หลายไปยังเมืองเล็กเมืองน้อยที่นักเรียนและผู้ปกครองยังไม่สันทัดเรื่องระบบคอมพิวเตอร์
แม้การใช้โทรศัพท์มือถือจะแพร่หลายไปไกลแล้วก็ตาม แต่การเรียนรู้ระบบที่มากกว่าดูข้อมูลในเครื่องโทรศัพท์ยังมีมากกว่านั้น
หากทั้งครูและนักเรียนไม่สื่อสารให้ทันต่อกัน รวมไปถึงระบบการเรียนการสอนในบางวิชายังไม่ไปถึงไหน โอกาสที่นักเรียนจะเบื่อหน่ายครู และครูจะไม่เห็นความสำคัญของระบบดิจิตอลที่ก้าวไปข้างหน้าถึงไหนต่อไหน อย่างนี้นักเรียนอาจไม่เอาใจใส่กับการเรียนผ่านระบบก็เป็นได้ ทั้งยังอาจเบื่อหน่ายกับการเรียน หันไป “เล่น” มากกว่า ดังที่พ่อแม่ผู้ปกครองวิตกว่าน้องหนูเล่นเกมมากกว่าเรียนรู้
เมื่อยุคสมัยมาถึงทุกวันนี้ หวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน นำวิชาการใส่เข้าไปในระบบ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านระบบ แม้จะเริ่มจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่ก่อนก็ตามที
The post ระบบการเรียนใหม่ appeared first on มติชนออนไลน์.