Quantcast
Channel: moddum –มติชนออนไลน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 1000

สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระยาเพชรปาณี สร้างสรรค์ลิเกก้าวหน้า

$
0
0

ลิเก แรกมีสมัย ร.5 จากสวดแขกตามประเพณีในศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมจากมลายูปัตตานี ที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ สมัย ร.1 (พร้อมปืนใหญ่พญาตานี หน้ากระทรวงกลาโหม)

ดังนั้น จึงมีกลองรำมะนาตีประโคมรับลิเกในยุคแรกเริ่ม (เหมือนลำตัด เพราะมีกำเนิดจากสวดแขกมาด้วยกัน)
ลิเกยุคแรกไม่เล่นเป็นเรื่องอย่างละคร แต่เล่นเป็นจำอวดชุด เช่น ชุดสิบสองภาษา ต้องเล่นออกสำเนียงภาษาต่างๆ ละแวกเพื่อนบ้านโดยรอบ
เจ้านายนักปราชญ์องค์หนึ่งเขียนเล่าเรื่องลิเกไว้ (จากบทความเรื่อง บ่อเกิดของลิเก โดย ว. ชยางกูร พิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิ.ย.-ส.ค. 2510 หน้า 41-46) คัดมาลงตั้งแต่เมื่อวาน จะคัดมาอีก ดังนี้

“ในลิเกชุดสิบสองภาษานี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าชุดที่เราชอบเอามาเล่นมาร้องมากที่สุดคือ ชุดมอญ ตอนพระยาน้อยชมตลาด ขึ้นต้นร้องเกริ่นว่า ‘พระสุริยงส่องฟ้าพระสุริยาเยี่ยมอัมพร ฝ่ายสมิงพระยามอญ ให้เร่าร้อนในอุรา’

ครั้นแล้วพระยาน้อยก็เดินกรีดกรายไปช้าๆ จนมาถึงร้านขายหมากขายพลู จึงมีคำบรรยายว่า ‘ถึงร้านขายหมากพลู นักเลงเจ้าชู้ดูดีดดิ้น ขายหมากไม่อยากกิน เอานมออกปลิ้นให้ชายดู’”
ในขณะนั้น แขกก็เดินตามมาด้วย คราวนั้นพวกแม่ค้าก็โจมตีอาบังเข้าบ้าง แม่ค้าถามอาบัง “อาบังรักที่ตรงไหน จงบอกไปเสียเถิดพี่ รักเนื้อหรือรักนม หรือรักผ้าห่มของน้องนี้” พี่บังตอบว่า “อะไรมันไม่สำคัญ เหมือนน้ำมันตานี” ลูกคู่ร้องรับว่า “เยลันยา ตูหนาลั้นกั่น อะไรมันไม่มันสำคัญเหมือนน้ำมันตานี”

“เมื่อจางวางแย้มออกโรงมาได้สักหน่อยก็เกิดมีผู้เอาอย่าง มีลิเกขึ้นอีกหลายโรง พระยาเพ็ชรปาณีตั้งโรงอยู่นอกกำแพงพระนคร ตรงหน้าวัดราชนัดดา ประชาชนเรียกว่า ลิเกพระยาเพ็ชร”

“พระยาเพ็ชรปาณีได้ดัดแผลงจากของเดิม โดยมีเครื่องแต่งตัวขึ้นบ้าง มีพระ มีนาง และตัวลิเกต่างก็มีบทร้องและเล่นเป็นเรื่องราวตามเรื่อง วงศ์ๆ จักรๆ จากหนังสือซึ่งหลังปกมีปรากฏว่า

‘เล่มละสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะ เพราะหนักหนา ฯลฯ’ เรื่องที่ดื่นอยู่ในเวลานั้นก็คือ จันทโครบ และลักษณวงศ์ และอื่นๆ”

“ตั้งแต่พระยาเพ็ชรปาณีได้พัฒนามาถึงมีลิเกลูกบท ก็เกือบใกล้ ‘นาฏะดนตรี’ อยู่แล้ว คือ มีปี่พาทย์ลาดตะโพนและดนตรีประกอบคล้ายละคร ผิดกันแต่เพียงตัวลิเก ร้องเอง ไม่มีใครบอกบท”
“ถัดพระยาเพ็ชรปาณีมาก็มีลิเกนาวาตรี หลวงสันทนาการกิจ (โหมด) ประชาชนเรียกว่าลิเกวิกหลวงสัน ตั้งอยู่ตำบลสะพานหัน ถัดจากวิกหลวงสันมาก็มี ลิเกวงหม่อมสุภาพ ซึ่งเป็นวงสุดท้ายที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

“จำเนียรกาลนานมาก็มีราษฎรตั้งคณะยี่เกขึ้นอีกหลายคณะ และการพัฒนาก็ตามมาอย่างรวดเร็ว จนถึงบางวงมีพระเอก (ชายจริง) และนางเอก (หญิงแท้) เมื่อลิเกได้บรรลุถึงขีดมาตรฐานอันสูงส่ง ท่านที่คิดแปลกๆ ก็สถาปนาขึ้นเป็น ‘นาฏะดนตรี’ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ‘ลิเกทรงเครื่อง’”

ข้อความว่า “ท่านที่คิดแปลกๆ” น่าจะหมายถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ชื่อจริงว่า แปลก) ผู้มีคำสั่งให้เรียกลิเกด้วยชื่อใหม่ว่า นาฏดนตรี

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระยาเพชรปาณี สร้างสรรค์ลิเกก้าวหน้า appeared first on มติชนออนไลน์.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 1000

Trending Articles