เมื่อประวัติศาสตร์ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครา หลายต่อหลายครั้งที่ประวัติศาสตร์ในยุคคลาสสิกถูกนำกลับมาปัดฝุ่นเพื่อเล่าใหม่ในปัจจุบัน เรื่องราวในอดีตถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะต่างๆ มากมาย แต่ที่พบเจอกันส่วนมากมักถูกถ่ายทอดผ่านการจำลองออกมาเป็นสถานที่หนึ่งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ยลโฉมรำลึกถึงอดีตในยุคนั้นๆ
เช่นเดียวกับ “เพลินวาน พาณิชย์” สาขาสยามสแควร์วัน ตอนชุมชนบางรอด ที่จัดนิทรรศการ “บางรอด” ย้อนวันวานสยาม ซึ่งถ่ายทอดมาจากเรื่องราวของชุมชนแห่งแรก ที่ท่าเรือคลองเตย ยุคที่ทหารจีไอเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองสยาม ชุมชนจึงคึกคักไปด้วยนายทหารอเมริกัน พ่อค้าแม่ค้า และผู้ค้าแรงงาน เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยหยิบเอาบรรยากาศเมื่อในอดีตมาเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง
เพื่อเป็นการสร้างสีสัน สร้างกิจกรรมร่วมกับลูกค้า จึงเกิดนิทรรศการภาพเขียนสีอะคริลิคแนว Pop-Art ที่หยิบบรรยากาศบ้านเมืองช่วง พ.ศ.2456 ยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามา ถ่ายทอดผ่านภาพเขียนหลากสีสัน ที่ผสมผสานเรื่องราวในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลงตัวทั้งหมด 28 ภาพ

อินทิพร แต้มสุขิน ผู้จัดนิทรรศการบางรอดในครั้งนี้ เล่าว่า สำหรับสถานที่ในการเลือกจัดนิทรรศการที่ร้านอาหาร เนื่องจากอยากจะลดช่องว่างระหว่างลูกค้ากับอาหาร เพราะเพลินวาน พาณิชย์ ไม่ได้เพียงขายอาหารอย่างเดียว แต่ทว่ายังขายบรรยากาศและขายประสบการณ์พ่วงไปด้วย จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาแล้วมีความสุขและความสนุกไปพร้อมๆ กัน จึงคิดว่าการจัดนิทรรศการนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ลูกค้าสนุกไปกับเราได้ อยากเล่าเรื่องโดยหยิบเรื่องราวของ “ชุมชนบางรอด” มาถ่ายทอดให้ลูกค้ารวมถึงให้คนทั่วไปได้มาดูผ่านงานภาพศิลปะ ณ ที่แห่งนี้ อีกทั้งยังเหมือนว่าเรามีกิจกรรมกับลูกค้าโดยที่ไม่ได้ยัดเยียด
“งานศิลปะมันสร้างสุนทรียภาพ ภาพเขียนชุดนี้ผสมผสานในส่วนของอาหารวัฒนธรรมและเรื่องราวได้ดีมาก แม้มันจะมีข้อความที่มันมีความเป็นตลกร้ายบ้างมีการเสียดสีบ้าง มีความกวนๆ ซึ่งตรงกับคาแร็กเตอร์ของความเป็นเพลินวานจึงเอาตัวนี้มาเป็นตัวเชื่อม และอยากให้ลูกค้ามาสัมผัส มันมีความหมายอะไรแฝงอยู่ซึ่งมันสนุกตรงนี้ เลยอยากจะมอบประสบการณ์ทางนี้ให้แก่ลูกค้า” อินทิพรกล่าว

สำหรับศิลปินที่มารังสรรค์ผลงานภาพเขียนอย่าง เอกลักษณ์ สาธิตธวัช หรือที่รู้จักในนาม King Nowhere ศิลปินที่ถ่ายทอดภาพเขียนผ่านลายเส้นและสีสัน ในคอนเซ็ปต์ที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน โดยมีแนวคิดจากการหยิบยกประเด็นเรื่องราวต่างๆ รอบตัว มาเสนอผ่านมุมมองที่สนุกแกมเสียดสีผสานกับความตลกร้าย ซึ่งใช้คาแร็กเตอร์ของตัวเองมาแทรกอยู่ในภาพเขียนแต่ละภาพได้อย่างลงตัว
เอกลักษณ์บอกว่า ภาพเขียนชุดนี้ได้เปรียบตัวเองเป็นจีไอ นำเอาไอเดียมาจากชุมชนบางรอดและ GI ซึ่งตัวงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ก็จะเป็นคาแร็กเตอร์ของตัวเองที่ไปเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นภาพเรื่องเล่าในงานของตนอยู่แล้ว จึงหยิบเอาลักษณะตรงนี้มาใช้กับตัวเอง ผ่านคำถามที่ว่าจะทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ได้บ้างและเล่นสนุกอะไรกับมันได้บ้าง จะเป็นลักษณะของการผสมผสานวัฒนธรรมในสมัยอดีตที่ GI หรือคนต่างชาติเข้ามาแล้วคนไทยก็ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของเขา ก็หยิบเอาตรงจุดนี้มาใช้เล่นกับเรื่องราวภายในเพลินวานว่ามีมุมไหนสนุกน่าสนใจก็หยิบเอามาวาดเป็นภาพชุดนี้ออกมา
“ภาพที่วาดจะเน้นความสนุกไว้ก่อน ถ้าหากมองไปในภาพดีๆ มันจะมีกิมมิคตลกๆ ซ่อนอยู่ในภาพแต่ละภาพก็จะมีใบหน้าของคน เอกลักษณ์ของภาพเหมือนกันทุกอย่าง เช่นลายเส้นและคาแร็กเตอร์เฉพาะตัว แต่ว่ารายละเอียดของแต่ละภาพจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งทั้งหมดจะตั้งอยู่บนความสนุกสนาน ตลกร้าย ไม่เชิงเสียดสีสังคม แต่จะตลกร้ายๆมากกว่า ผ่านลายเส้นและสีสัน ที่พยายามจะทำให้มันดูแล้วเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องซับซ้อนมาก คิดเพียงว่าสีมันสวย มันก็น่าจะสนุก รวมถึงเนื้อหาข้างในต้องน่าสนใจ” เอกลักษณ์กล่าว และยังทิ้งท้ายอีกว่า โดยส่วนตัวไม่มีคำนิยามสำหรับงานของผม เพราะถ้านิยามไปแล้วท้ายที่สุดจะเป็นข้อจำกัดของตัวเองไป
ร่วมย้อนวันวานได้ ณ เพลินวาน พาณิชย์ ตอน ชุมชนบางรอด สาขา สยามสแควร์วัน ชั้น 3 โดยนิทรรศการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 เมษายน-31 พฤษภาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น.
สุขแบบง่ายๆ
‘บางรอด’ วันวาน vs ‘สยาม’ วันนี้
ภัทรา สหวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพลินวาน หัวหิน และเพลินวาน พาณิชย์ เล่าให้ฟังว่า เนื้อในของ “เพลินวาน พาณิชย์” ไม่ต่างจากเพลินวานที่หัวหินเท่าไหร่ เรายังคงสนับสนุนเกษตรกร แต่เราอยากเป็นปลายน้ำที่เอาทุกอย่างที่เกษตรกรทำแล้วเรามา value added เลย ซึ่งถ้าทุกร้านที่เปิดเหมือนกันหมด อาจจะเบื่อกัน คนทำเองถ้าทำอะไรซ้ำๆ ก็จะฟ่อกันไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันก็มองว่าตึกเก่าๆ ในบ้านเราถูกรื้อทิ้งทุบทิ้งไปค่อนข้างเยอะ เหมือนอดีตของเราเริ่มหายไปเรื่อยๆ เหมือนพวกเรากำลังจะเป็นอัลไซเมอร์ จะจำอะไรกันไม่ได้ ในเมื่อเราชอบตรงนี้ ตอนที่ทำร้าน “เรด ครอส ทีรูม” ที่ทองหล่อ ทำให้นึกถึงว่ายุคนั้นมันมีอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นบ้าง เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่า มีหลายๆ อย่างมากมาย มี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพอากาศ ไปรษณีย์ หอสมุด มีชุมชนก็คือท่าเรือคลองเตย ซึ่งเกิดขึ้นในยุคนั้นเหมือนกัน แต่ละอย่างสามารถเอามาสร้างเป็นธีมได้ ทำให้ทีมงานเกิดความตื่นเต้น จึงเป็นที่มาของ “เพลินวาน พาณิชย์ ตอนบางรอด”
ภัทราบอกอีกว่า การเลือก “ชุมชนบางรอด” เป็นธีมของเพลินวานที่สยาม เพราะมองว่า “สยาม” ทันสมัยมาก มีแต่เด็ก/วัยรุ่น การที่เราเอาชุมชนมาเกิดไว้ที่นี่ มันคอนทราสมาก เหมือนการโยนสีขาวเข้าไปในสีดำ มันชัดเจน เลยเอารถสิบล้อมาวางที่ระเบียงร้าน
“การทำงานส่วนใหญ่ของเราเกิดจากความสนุก เริ่มจากสิ่งที่เราชอบ และเราทำแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะยากหรือง่าย เดินไปเจออะไร เราจะไปต่อได้”
“บางรอด” เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นในยุคทหารจีไอมาขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย เรามองว่าคนที่เกิดในชุมชนนี้ค่อนข้างเอาตัวรอดเก่ง เป็นการตีความของเรา เลยเป็นที่มาของชุมชนบางรอด เอาขวดเอาสิ่งที่เขามีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ หยิบมาเป็นเรื่องเล่า ดึงอารมณ์ความรู้สึกในสมัยนั้นมาใส่ ขายอารมณ์ค่อนข้างเยอะ
อยากให้คนที่ก้าวเข้ามาเอนจอยกับความทรงจำ แต่เป็นความทรงจำผ่านอาหาร ซึ่งเป็นอาหารเบสิก บ้านๆ เรื่องอาหารไปไกลมาก มีอาหารระดับมิชลินสตาร์ จึงเชื่อว่าที่เราเคยกินตอนเด็กๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ร้านอาหาร คอมฟอร์ทฟู้ดง่ายๆ เป็นความสุขที่หยิบจับง่าย
The post ย้อนวันวาน ‘ชุมชนบางรอด’ ผ่านนิทรรศการภาพเขียน appeared first on มติชนออนไลน์.