ลิเก มีกำเนิดยุคกรุงเทพฯ มีในข้อเขียนของเจ้านายรุ่นเก่าก่อน [บ่อเกิดของลิเก โดย ว. ชยางกูร พิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิ.ย.-ส.ค. 2510 หน้า 41-46] จะคัดมาดังนี้
“ลิเกมิใช่เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยเลย เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง ข้อพิสูจน์นั้นหาไม่ยาก ถ้าท่านขยันค้น โปรดเปิดดูพงศาวดารไทยตั้งแต่ต้นลงมา ท่านจะไม่พบคำว่า – ลิเก ยี่เก หรือดิเก เลยเป็นอันขาด”
ลิเกยุคแรกสุดไม่เป็นละคร เพราะไม่ได้กำเนิดจากละครรำราชสำนัก อย่างที่วารสารวัฒนธรรม (ของกระทรวงวัฒนธรรม) บอกไว้ ขอให้อ่านหลักฐานดังนี้
“ข้าพเจ้าได้ดูลิเกเป็นครั้งแรกที่วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร คิดตามอายุของข้าพเจ้า คงจะเป็นราว ร.ศ. 108 ลิเกวงนี้เป็นของจางวางแย้ม (นามสกุลยังไม่มี) เป็นจางวางในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย”
“วิธีดำเนินการเล่นนั้นหาเหมือนละครไม่ คือไม่มีพระเอก นางเอก เล่นแสดงเป็นชุดๆ เรียกว่า ชุดสิบสองภาษา เครื่องประกอบดนตรีก็มีแต่รำมะนา (กลองหน้าเดียว) ใช้ตีให้จังหวะในการร้องเท่านั้นเอง”
“การร้องนั้น ร้องทำนองลิเกเป็นพิเศษ บรรยายเรื่องราวของชุดนั้นๆ เมื่อโหมโรง ด้วยการร้องเกริ่นพอสมควร แล้วแขกก็ออกมาสัมภาษณ์พวกสิบสองภาษา มีการเจรจาด้วยข้อความตลกคะนอง หรือบางทีก็มีหยาบโลนบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอนาจารเอาทีเดียว ลิเกเลิกก็เมื่อแสดงจบสิบสองภาษาแล้ว”
ลิเกมาจากแขก (ไม่ได้มาจากละครรำราชสำนัก) จึงมีออกแขก แล้วใช้คำแขกๆ มีคำอธิบาย ดังนี้
“ลิเกจางวางแย้ม เห็นจะเป็นวงแรก ซึ่งเล่นมหรสพเช่นนี้ในประเทศไทย เพราะไม่ปรากฏว่ามีวงอื่นอีกต่อมาเป็นเวลานาน โหมโรงเสร็จแล้ว แขก (ของวงลิเก) ก็ออกมาสนทนากับหัวหน้าชุด ถ้าลองสังเกตดู จะทราบว่า แขกที่ออกมานั้นใช้ภาษาแขกถึงสามภาษาคือ
ภาษาฮินดูในคำว่า ฮัชฉาแฮ่ แปลได้ความว่า สวัสดี และแขกว่าอะไรต่อไปเราได้ยินเป็น เต๋าระกินหนา แต่คำว่าเต๋าระกินหนานั้นแขกอะไรก็แปลไม่ได้เพราะเราฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด
อีกคำหนึ่งคือ อาบัง คำนั้นแปลว่าพี่ชายในภาษาชวามลายู
อีกภาษาหนึ่งที่แขก (ลิเก) ใช้คือภาษาทมิฬ ซึ่งอยู่ภาคใต้ของประเทศอินเดีย อันเป็นประเทศที่เกิดของพระนางมัทรี ภาษาทมิฬนี้ ฟังเสียงได้ว่า อะเหลวังกา ลักกะตาสิงกะโป คงแปลว่า เชิญมาลักกะตา สิงกะโป สองคำหลังนั้นคือ เมืองที่เราเรียกว่า กะลักกะตา และ สิงคโปร์ เป็นภาษาแขกฮินดูทั้งคู่
เป็นอันว่าแขกในลิเกนั้นใช้ภาษาแขกถึงสามภาษา สักแต่ว่าอะไรเรียกว่าคำแขก เป็นใช้เอามารวมกันได้
The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลิเกยุคแรกสุด ไม่เป็นละคร appeared first on มติชนออนไลน์.