เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงกลมรี แต่ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่กลางตัวอำเภออู่ทองโดยไม่อนุรักษ์และไม่พัฒนา
คูเมืองอู่ทองเหลือให้เห็นเป็นคูน้ำเฉพาะด้านหน้าที่ว่าการอำเภออู่ทอง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ซึ่งมีถนนมาลัยแมนตัดเลียบผ่านประมาณ 300 เมตรเท่านั้น
คูเมืองด้านอื่นถูกปล่อยทิ้งร้าง เน่าเหม็นอุดตัน ไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีใครดูแล โดยเฉพาะด้านตะวันตก (ซึ่งอยู่หลังชุมชนที่ว่าการอำเภอออกไป) เป็นที่ทิ้งขยะ และถูกรุกล้ำจนแทบไม่เหลือความเป็นคูเมืองโบราณเก่าสุดของภาคกลาง
ในทางวิชาการ เมืองอู่ทองเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อาเซียนในอุษาคเนย์
หมายถึง อู่ทอง มีชุมชนบ้านเมืองราว 2,000 ปีมาแล้ว เก่าสุดในภาคกลาง แล้วขยายตัวเติบโตก้าวหน้ามีพัฒนาการสืบเป็นประเทศไทย
เอกสารโบราณของอินเดียและลังกา เรียกดินแดนอู่ทองว่าสุวรรณภูมิ ต่อมามีรัฐสุพรรณภูมิ (หรือสยาม) ที่ได้ร่วมกับรัฐอโยธยา-ละโว้ สถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชอาณาจักรสยามแห่งแรก แล้วสืบเป็นกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ จนปัจจุบันเป็นประเทศไทย
เรียกสั้นๆ ว่า อู่ทอง ต้นทางไทยในประวัติศาสตร์อาเซียน
หลังออกพรรษาปีหนึ่ง ท่านบรรหาร ศิลปอาชา ไปทอดกฐินวัดดีสลัก ซึ่งอยู่เชิงเขาทางทิศตะวันตก ไม่ไกลจากเมืองอู่ทอง
เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ได้แวะไปดูคูเมืองอู่ทองทั้งด้านหลังและด้านหน้า ก็พบความจริงว่าถูกปล่อยปละละเลย แล้วถูกรุกล้ำทำลายจนร่องรอยหายไปเกือบหมด
จึงปรึกษาหารือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งที่อยู่ในท้องถิ่นและที่อยู่ส่วนกลาง ขอความร่วมมืออนุรักษ์เมืองอู่ทองเป็นเมืองประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดี ขณะเดียวกันก็พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ในที่สุด ด้วยการกระทำอันมีคุณูปการของท่านบรรหาร ศิลปอาชา เมืองอู่ทองก็รอดพ้นจากการถูกทำลาย กลายเป็นแหล่งเรียนรู้มีคุณค่ามหาศาลต่อไทยและอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างมูลค่าสู่ชุมชนท้องถิ่นอู่ทองและใกล้เคียง
เป็นกรณีตัวอย่างที่สถาบันที่มีการเรียนการสอนทางโบราณคดีต้องศึกษาวิจัยอย่าง ถี่ถ้วนในวิธีบริหารจัดการ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน

The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : เมืองอู่ทอง ยังอยู่สุพรรณ ด้วยฝีมือ บรรหาร ศิลปอาชา appeared first on มติชนออนไลน์.