Quantcast
Channel: moddum –มติชนออนไลน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 1000

ส่องโซเชียล ดูควันหลงงานบอล’ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ’กับประเด็นดราม่า’ทหารมีไว้ทำไม?’

$
0
0

งานบอล หรือฟุตบอลประเพณีที่จัดร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ครั้งแรก พ.ศ.2477 กระทั่งปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 71 แล้ว ภายใต้แนวคิด “ครั้งหนึ่ง”

ความน่าสนใจของกีฬากระชับสามัคคี ไม่ใช่เพียงการลงสนามฟาดแข้งของนักฟุตบอล แต่ยังเป็นเวทีแสดงออกซึ่งความคิดของบรรดานิสิตนักศึกษาต่อประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา ฯลฯ ทั้งการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ และขบวนพาเหรด ที่ไฮไลต์อยู่ที่หุ่นล้อการเมืองและคำกลอนบนป้ายผ้า

โดยเฉพาะฝั่ง “ลูกแม่โดม” จะเป็นที่จับตามองทุกครั้ง

ปีนี้ก็เช่นกัน เกิดกระแสดราม่า กล่าว (หา) ว่า นักศึกษากลุ่ม “ล้อการเมือง” ด่าแต่ทหาร ไม่ด่านักการเมืองโกง หลังมีป้ายผ้าในขบวนพาเหรดชิ้นหนึ่งเขียนว่า “มีทหารไว้ทำไมใครกล้าถาม มีไว้ห้ามป้ายผ้าผู้กล้าถือ”

ซึ่ง “มีทหารไว้ทำไม” เป็นชื่อบทความที่ *นิธิ เอียวศรีวงศ์* นักวิชาการคนสำคัญของสยามประเทศ เขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (ตามไปอ่านได้ที่ http://www.matichon.co.th/news/2227)

เพจดังโต้
เหตุที่ “คนดี” ไม่ล้อ

ควันหลงงานนี้ แฟนเพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย หนึ่งในแฟนเพจยอดฮิตได้โพสต์ข้อความตอนนี้ไว้เมื่อคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ไม่กี่นาทีก่อนวันวาเลนไทน์ ว่า

“พวกคนดีที่ตอนนี้เขาทำเป็น ‘โลกสวย’ และอวยทหาร เขาบอกว่า ธรรมศาสตร์แย่มาก ปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง สร้างความแตกแยก และแน่นอนตรรกะยอดฮิต ‘รับเงินมาด่า คสช.’ แล้วก็พูดประมาณว่าทำไมตอนนักการเมืองอยู่ธรรมศาสตร์ไม่ออกมาด่าหรือล้อเลียนบ้าง

“คือคนพวกนี้ คำเดียวที่อธิบายได้คือ ‘โง่’

“สมัยนักการเมืองอยู่ โดนล้อทุกยุคทุกสมัย งั้นในภาพนี้ คืองานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ประมาณปี 2556 จุฬาฯ เสาหลักของแผ่นดินลงทุนทำขบวนล้อยิ่งลักษณ์เองเลย แขวะเรื่องนโยบายรถคันแรก ข้าวเน่า คุณนาย(ก) ฮา ไม่เห็นใครเขาจะมีปัญหา แต่พอยุครัฐบาลคนดีกลับใจเสาะ ทหารอกสามศอก แต่หัวใจนี่แสนจะเปราะบาง อ่อนไหว ล้อไม่ได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้ง

“เลิก ‘ดัดจริต’ เถอะพวก ‘คนดี’ จริงๆXXไม่ได้มีปัญหากับการล้อการเมืองหรอก xxมีปัญหาแค่มันไม่ได้ล้อ ฝ่ายที่มึงเกลียดเท่านั้นเอง ตอนนักศึกษา-นิสิต ออกมาค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม xxก็ชมเขาว่าไทยไม่เฉยแล้ว ทำเพื่อชาติ แต่พอมีนักศึกษา ต้านรัฐบาล คสช. กลับโดนด่าเป็นขี้ข้าแม้ว รับเงินมาป่วน สร้างความขัดแย้ง

ตรรกะพวกxxคืออะไร?

ภาพจากเฟซบุ้คแฟนเพจ หยุดดัจริตประเทศไทย

ชวนมอง “ทหาร” ใหม่
อย่าเหมารวม

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Warat Karuchit ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” ซึ่งมีผู้แชร์ไปค่อนข้างเยอะพอสมควร โพสต์มุมมองที่มีต่อทหารยาวเหยียด ชวนมองทหารในมุมใหม่ ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยคำถามย้อนกลับไปอย่างถึงพริกถึงขิงเช่นกันว่า “มีนักวิชาการไปทำไม?” และ “มีนักศึกษาไปทำไม?”

คัดมาตอนหนึ่งว่า…

“เด็กสมัยนี้ ก็คงไม่ได้ต่างอะไรกับผมในวันนั้น แต่อย่างหนึ่งที่ผมบอกได้คือ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีทุนในประเทศ นอกประเทศ ไม่มีการ ‘จัดตั้ง’

ดังนั้น วาทกรรม ‘ทหาร’ = ‘เผด็จการ’ จึงเป็นวาทกรรมประเภทหนึ่ง ที่เอื้อต่อการยอมรับสำหรับคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งอาชีพทหาร ก็เอื้อต่อการถูกมองเช่นนี้ ด้วยระเบียบวินัย การบังคับบัญชา ไม่ต้องสงสัยในคำสั่ง มันเผด็จการในธรรมชาติการทำงานอยู่แล้ว ถ้าทหารอยู่ในกรมกอง ในสนามรบ ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่เมื่อเข้ามามีส่วนร่วมการเมือง ก็ย่อมที่จะนำแนวทางที่ตนเองถนัดมาใช้ในการบริหาร ทำให้เกิดการขัดแย้งอย่างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตอันแสนอิสระของหนุ่มสาวที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย และนักวิชาการอิสระที่มีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม (มคอ.ก็ไม่ต้องเขียน 555) ดังนั้น การต่อต้านทหารที่เป็นตัวแทนของภาพผู้มีอำนาจจึงดูเท่โดยอัตโนมัติ ใครไม่ต่อต้านทหารก็คือพวกอำนาจนิยม พวก elite พวกไม่เห็นหัวประชาชน

อย่างที่บอกว่า ใครๆ ก็เป็น ‘เผด็จการ’ ได้ทั้งนั้น ทหารไม่ได้จองความเผด็จการไว้ใช้อาชีพเดียว ในบริษัทบางแห่ง (รวมทั้งสถานศึกษาด้วยซ้ำ) อาจจะเป็นรูปแบบของเผด็จการที่มองไม่เห็น เนื่องจากคุณไม่มีทางเลือกอะไรเลยนอกจากทำตามคำสั่งของเจ้านาย นั่นก็คือเจ้าของเงิน หรือเรียกอีกอย่างว่า เผด็จการทุนนิยม ไม่รู้ว่านักศึกษามีจุดยืนอย่างไรกับคำนี้ มีนักวิชาการอิสระคนไหนประกาศตัวต่อสู้กับเผด็จการทุนนิยมที่กัดกร่อนสังคมไทยทุกๆ วันบ้าง? ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีที่ฝรั่งชื่นชม เผด็จการทุนนิยมก็มักจะแทรกซึมเข้าไปก่อตัวเป็นเผด็จการรัฐสภา ในการออกกฎหมาย นโยบายต่างๆ ที่เอื้อต่อนายทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เผด็จการมันเปลี่ยนรูปแบบจากกระบอกปืนอย่างเดียวไปนานแล้ว อย่ามัวแต่เป็นหัวก้าวหน้าตกยุค

ดังนั้น เรามาดูกระแสสังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติกันดีมั้ย ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร ทำอะไรแล้วส่งผลดีต่อประเทศชาติ ใครทำดีควรชื่นชม ใครเอาเปรียบประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ต่อต้านกันเป็นเรื่องๆ ไป อย่าเหมา อย่าปลุกปั่น อย่ามัวแต่หัวชนฝา อ้างว่ารักประชาชนเพื่อเรียกร้องโลกสวยในสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนน้อย ประชาชนจะถามเอาว่า “มีนักวิชาการไปทำไม?” และ “มีนักศึกษาไปทำไม?”

 

หยุดดัจริตประเทศไทย

ทหารซึ่งรู้ “หน้าที่”
ความในใจครอบครัวทหาร

กระแสในแฟนเพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย ต่อกระทู้ที่ยกมา ทำให้เกิดความคิดความเห็นมากมายตามมา

ขณะที่ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ImFarsai Saichon แสดงความเห็นว่า นักศึกษาเขาสื่อถึง “ทหารที่ไม่รู้หน้าที่ แล้วมาทำสิ่งที่ตัวเองทำไม่เป็น จนเศรษฐกิจรุ่งเรืองเฟื่องฟูมิตรสหายคบหามากมายอย่างตอนนี้ ส่วนทหารที่รู้หน้าที่น่าชื่นชมเหมาะสมกับการที่ได้รับเงินเดือนจาก ‘ภาษีประชาชน’ แล้วครับ งบทหารสูงถึงสองแสนล้านหวังว่าจะกระจายถึงพวกท่านๆ”

ประเด็นหนึ่งที่จำกัดความได้ว่า “ทหารทวงบุญคุณ” คือเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ที่ถูกนำมาเป็นเหตุผลของคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม?

ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sittisede Polwiang ที่เผย (เกือบ) หมดเปลือกว่า

“ทำไมอยู่ๆ ดราม่าทหารมีไว้ทำไม เยอะแยะเต็มเฟซบุ๊กไปหมดล่ะ กะอีแค่ป้ายล้อการเมือง แถมก็มาลำเลิกบุญคุณว่าทหารคือคนปกป้องประเทศ ทหารช่วยน้ำท่วม จากใจครอบครัวทหารนะฮะ ‘มันเป็นหน้าที่ ที่ต้องทำจากการได้เบี้ยเลี้ยงและรายได้คือภาษีประชาชน’

“ถามจริง รู้ป่ะว่าทหารในไทยมีทั้งหมดเท่าไหร่? ทหารในไทยที่ตายในสนามรบคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่? และข้อสำคัญคือทหารกลุ่มไหนที่มักตายมากที่สุด

“ปู่xxนี่แหละ ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี กับวีรกรรมพอร์คชอปฮิลล์ คนที่ทำให้พวกมึงๆ ทั้งหลายไปแอ๊บถ่ายรูปเกาหลีฟรีวีซ่าได้นานถึง 90 วันนั่นแหละ ทหารที่ตายในสนามรบ ชายแดนใต้ ถามจริงมีคนที่เป็นทหารระดับ “นายพล” กี่คนไปตาย? แทบทั้งหมดนั้นคือทหารชั้นผู้น้อย ส่วนใหญ่ระดับประทวนด้วยซ้ำไป ส่วนทหารชายคา ก็สบายไป เงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ น้ำมันฟรี ทั้งหมดนี้จากภาษีประชาชน

“ปู่xxก็ทหาร พ่อกูก็ทหาร ป้ากูก็ทหาร

“พ่อผมนี่แม้ไม่ได้ตายในสนามรบ แต่ก็เสียชีวิตในหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราชเสด็จด้วยพระองค์เองมาในงานพระราชทานเพลิงศพด้วย ปู่ผมแม้จะไม่ได้เสียชีวิตในสนามรบ เพราะรอดกลับมาได้ แต่วีรกรรมต่างๆ ในครั้งนั้นก็ทำให้ฝ่ายไทยและชาติพันธมิตรได้รับชัยในสมรภูมิ ครอบครัวทหารเองยังไม่บ่น เบื่อพวกดัดจริตมาทวงบุญคุณ ทั้งที่บางคนแม่งก็ครอบครัวเจ๊กโล้สำเภามาไม่กี่สิบปี แต่ก็เร่าๆ ซะอย่างกับบรรพบุรุษตัว เป็นผู้เสียเลือดเนื้อปกป้องประเทศงั้นแหละ

“อ้อ ส่วนตอนน้ำท่วมน่ะ แถวรามอินทรา ตำรวจทั้งนั้นจ้าที่เข้ามาดูแลสถานการณ์ ส่วนใหญ่ตำรวจที่ถูกเกณฑ์มาจากอีสานด้วยซ้ำ ห้องรับแขกบ้านกูปีนั้น ระดับน้ำเท่าเอวจ๊ะ บ้านจมไปครึ่งหลังจ๊ะ
ส่วนราบ 11, ศรภ., และสนามกอล์ฟ ทบ. ตอนนั้นแทบไม่เปียกเลยจ๊ะ Barrier แม่-แน่นยิ่งกว่าสนามรบ ไดโว่สูบน้ำแม่งเทน้ำออกเต็มพิกัดมาก บ้านคนแถวนั้นตั้งแต่ซอยลาดปลาเค้าลงมา ‘เละ’ หมดจ๊ะ

“ทหารมีไว้ทำไม? ทหารจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นรั้วของชาติ ปกป้องคนไทย ปกป้องประเทศไทย ที่เราสื่อสารกันในวันนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มนั้น แต่เราถามถึง …

“ทหารการเมือง”

 

คือบางส่วนของควันหลงงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งล่าสุด เป็น “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นในยุค “คสช.” ปฏิรูปประเทศและเร่งสร้างความปรองดอง ซึ่งดูเหมือนจะไม่ง่ายนักกับภารกิจใหญ่ครั้งนี้ เพราะแค่เรื่อง “ล้อการเมือง” ของนักศึกษาก็ดูจะเป็นพิษเป็นภัยจนต้องห้ามต้องปรามกันยกใหญ่

ตอบหน่อยได้มั้ยว่าทำไม

ตอบคำถามในการแปรอักษรของฝั่ง มธ. ตอนหนึ่งหน่อยว่า

“กลัวเป็นบ้า กลัวไรหนักหนา แค่เด็กบ้าๆ ล้อการเมือง”

ภาพจากเฟซบุ้คแฟนเพจ V For Thailand

(ภาพจากเฟซบุ๊ค V For Thailand)

The post ส่องโซเชียล ดูควันหลงงานบอล’ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ’ กับประเด็นดราม่า’ทหารมีไว้ทำไม?’ appeared first on มติชนออนไลน์.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 1000

Trending Articles