ความรักในวรรณกรรมยุคอยุธยา มีลักษณะอุดมคติทางศาสนาที่ไม่มีในชีวิตจริง
โวหารคร่ำครวญที่กวีมีต่อหญิงคนรักในวรรณกรรม ไม่เป็นเรื่องจริง กวีไม่ได้พลัดพรากจริง แต่เป็นขนบทางวรรณกรรมเพื่อแสดงตนบำเพ็ญเพียรภาวนาอดทนต่อความทุกข์ทรมานด้วยหวังบุญบารมี (จากการพลัดพรากที่สร้างขึ้นเอง)
กำสรวลสมุทร โคลงดั้น เป็นพระราชนิพนธ์ พระบรมราชาธิราช (ที่ 3) โอรสพระบรมไตรโลกนาถ ยุคต้นอยุธยา คร่ำครวญถึงหญิงคนรัก เรียก “ศรีจุฬาลักษณ์” เป็นชื่อตำแหน่งสนม 1 ใน 4 คน ของพระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยา (ไม่ใช่ชื่อตัวของหญิงคนรัก)
สำนวนกวีโวหารที่เป็นห่วงหญิงคนรัก จะฝากใครก็ไม่ไว้ใจ ต้องฝากไว้กับตัวของหญิงดูแลเอง นั่นแหละดีที่สุด ดังนี้
โฉมแม่จักฝากฟ้า เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทิกโฉมเอา สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤๅขัดเจ้าหล้า สู่สมสองสม
โฉมแม่ฝากน่านน้ำ อรรณพ แลฦา
เยียวนาคเชยชมอก พี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบ จอมสวาท กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้ เท่าเจ้าสงวนเอง
โคลง 2 บทนี้เป็นต้นแบบสุดคลาสสิคให้โคลงนิราศของนรินอินทร์ ยุคต้นรัตนโกสินทร์
ตำราวรรณกรรมไทยสมัยก่อน บอกว่าโคลงเรื่องนี้แต่งโดยศรีปราชญ์ กวีสมัยพระนารายณ์ฯ แล้วเรียก กำสรวลศรีปราชญ์
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (หรือท่านจันทร์ มีนามปากกาว่า พ. ณ ประมวญมารค) ค้นคว้าวิจัยพิมพ์เป็นเล่มไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 พบว่ากำสรวลสมุทร เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นอยุธยา ไม่ใช่ของศรีปราชญ์ยุคพระนารายณ์ฯ
นักวิชาการทางวรรณกรรมสมัยหลังๆ สืบจนปัจจุบัน ไม่ให้เกียรติ ไม่ยกย่องท่านจันทร์ แต่ฉวยงานของท่านจันทร์ไปแต่งตำราเป็นของตัวเอง
The post สุจิตต์ วงษ์เทศ : ความรักเพื่อบำเพ็ญภาวนาของคนชั้นสูง ยุคอยุธยา appeared first on มติชนออนไลน์.